“...ความสนใจของประชาชนต่อภาวะมลพิษอากาศดังปรากฏเมื่อต้นปี 2561 เป็นปรากฏการณ์ใหม่ซึ่งชี้ถึงความสนใจต่อสภาวะแวดล้อมของคนชั้นกลางรุ่นใหม่

ประกอบกับการเข้าถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์และข้อมูลจากต่างประเทศ เป็นแรงผลักดันให้หน่วยงานราชการต้องให้ความสำคัญต่อการเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมและไม่น้อยกว่าสื่อทางอื่น เพื่อสร้างความเข้าใจถูกต้องและระดมกำลังของประชาชนในการปรับปรุงคุณภาพอากาศ...”

เนื่องจาก “สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ” มีจำนวนจำกัด อาจไม่อยู่ในพื้นที่ที่ประชาชนให้ความสนใจ ประกอบกับปัจจุบันมีเครื่องวัดมลพิษอากาศราคาถูกที่ประชาชนสามารถหาซื้อมาใช้ได้เอง หน่วยงานของรัฐควรมีมาตรการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจวัดมลพิษอากาศ

โดยให้ข้อแนะนำการ “ซื้อ” และ “ใช้” อุปกรณ์และการตรวจสอบความถูกต้องของอุปกรณ์

นี่คือสิ่งที่สะท้อนอยู่ในแผนและมาตรการ เพื่อรับมือกับมลพิษทางอากาศของหน่วยงานรัฐ แต่ปัญหาสำคัญมีว่า...สิ่งที่ว่ามาเหล่านี้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น?

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนมุมมองไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Tara Buakamsri” ย้ำว่า ไม่ได้บ่น เขียนไว้ในแผน แต่ไม่ทำ

หน้าที่ของเราก็คือ...การวิพากษ์

“ทำไม? รัฐบาลจึงไม่สามารถรับมือกับวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ได้ทันท่วงที” บล็อกโพสต์ โดย ธาราฯ เว็บไซต์ www.greenpeace.org กุมภาพันธ์ 7, 2562 ขอตัดตอนคัดลอกมาเผยแพร่ส่งต่อให้สังคมได้รับรู้กันว่า...

หลังจากช่วงที่เกิดวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ในช่วงต้นปี กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำ “โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล” ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการมลพิษฝุ่นและเพื่อเตรียมการรับมือและลดความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่อาจเกิดขึ้นอีก ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2562 และปีต่อๆไป

...

ประเด็นสำคัญน่าสนใจมีอยู่หลายข้อด้วยกัน...เริ่มจากหนึ่ง “การเพิกเฉยต่อวิกฤติ”

เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นเรามักจะได้ยินคำกล่าว เช่น “สถานการณ์ยังไม่รุนแรงถึงขั้นวิกฤติ” หรือ...“แม้ปริมาณฝุ่นเกินมาตรฐานแต่ไม่ได้วิกฤติ เป็นปกติของช่วงเปลี่ยนฤดู” หรือ...“ฝุ่นยังไม่วิกฤติ ตรวจเจอแค่ 70–100” นี่คือทัศนคติที่มองว่า...มลพิษทางอากาศไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ

ซึ่งเป็นแนวโน้มของกระแสการเพิกเฉยเรื่อง “มลพิษทางอากาศ” ของกลุ่มผู้กำหนดนโยบายในหลายประเทศทั่วโลก ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากกรอบคิดที่ว่า “มลพิษทางอากาศต้องมีความเข้มข้นถึงระดับหนึ่งจึงจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ” ตัดฉากมาที่ประเทศไทย...หากฝุ่น PM 2.5 เกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถึงจะมีผลต่อสุขภาพ และหากมีค่าเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเกิน 3 วันติดต่อกันจะเข้าสู่สภาวะวิกฤติ

ในขณะที่ข้อมูลที่รวบรวมระหว่างวันที่ 1-29 มกราคม 2562 คนกรุงเทพฯอยู่ใต้เงามลพิษฝุ่น PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานของไทยตั้งแต่ 9-21 วัน และเกินมาตรฐาน 24 ชั่วโมงตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่ 24-29 วัน แต่...“รัฐบาล” ก็ยัง “เพิกเฉย” และไม่ได้คิดว่าเป็น “วิกฤติ”

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่ามีระดับฝุ่นละอองที่ปลอดภัยหรือระดับฝุ่นละอองที่ไม่แสดงผลเสียต่อสุขภาพอนามัย จึง...ถือเป็นภารกิจของหน่วยงานรัฐทั้งในด้านสุขภาพอนามัยและหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องพยายามปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพอากาศให้เข้มงวดขึ้นในระยะยาว

น่าสนใจว่า...การเพิกเฉยกับวิกฤติทำให้ขาดโอกาสในการรับมือกับปัญหามลพิษทางอากาศอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะภาพการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

อาทิ ฉีดน้ำละอองฝอยตามถนน พื้นที่ต่างๆ หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและงานวิจัยตรวจวัดแล้วยืนยันตรงกันว่าฝนโปรยไม่ได้ช่วยลดความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ในบรรยากาศลงมากนัก

การแก้ปัญหาที่แท้จริงคือ การลดการปล่อยจากแหล่งกำเนิดเท่านั้น

“เมื่อวิกฤติมลพิษทางอากาศมาเยือน รัฐบาลควรตั้งทีมงานปฏิบัติการตอบสนองเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาสำหรับปัญหามลพิษอากาศเป็นการเฉพาะ” ธารา ว่า

“...เพราะแนวทางที่มีอยู่ในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศ...การรับมือ...ลดความรุนแรงของฝุ่น PM 2.5 หรือแม้กระทั่งแนวทางปฏิบัติ 3 ขั้นตอนในช่วงที่เกิดวิกฤติฝุ่น PM 2.5

ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งยึดโยงอยู่กับอำนาจหน้าที่ของทุกส่วนราชการ ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลและไร้ประสิทธิภาพ”

ประเด็นสำคัญต่อมา...ช่องว่างมหาศาลระหว่างนโยบาย องค์ความรู้และการปฏิบัติ รัฐบาลมักจะร่างนโยบายบริหารจัดการมลพิษทางอากาศไว้อย่างสวยหรู แต่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริง

...

ในบทคัดย่อของโครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ระบุชัดเจนว่า การลงทุนเพื่อควบคุมมลพิษ PM 2.5 “น่าจะ” เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่...เมื่อพิจารณาถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนและนโยบายอื่นๆที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ในปัจจุบัน

มิติของการลงทุนเพื่อควบคุมและป้องกันมลพิษ PM 2.5 ถูกละเลยโดยสิ้นเชิง?

เช่น ประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ฉบับที่ 7/2558 ยกเว้นการจัดทำอีไอเอในโรงไฟฟ้าขยะทุกขนาด และคำสั่งมาตรา 44 ที่ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองรวมในกิจการบางประเภทประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้า 2.โรงผลิตก๊าซซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ ส่งหรือจำหน่วยก๊าซ

3.โรงงานปรับปรุงคุณภาพของรวม (โรงบำบัดน้ำเสีย/เตาเผาขยะ) 4.โรงงานคัดแยกและฝังกลบ 5.โรงงานเพื่อการรีไซเคิล หรือล่าสุด ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับ คสช. ที่จะซ้ำเติมปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้มากขึ้น

นี่คือ...ความย้อนแย้งเรื่องผลประโยชน์ที่ได้รับและต้นทุนเพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 นับรวมไปถึงการยื้อเวลาหลีกเลี่ยงปรับมาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศ...ขาดกรอบทางกฎหมายที่เอื้อให้มีฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ที่ครอบคลุมและเป็นระบบ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนได้ขับเคลื่อนผลักดันกฎหมายว่าด้วยทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers : PRTR) ซึ่งจะเป็นกรอบในการพัฒนาระบบการรายงานข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำมลพิษ PM 2.5 และสารตั้งต้นของ PM 2.5 อยู่ในรายชื่อมลพิษเป้าหมาย (target substances/pollutants)

“กฎหมาย PRTR แตกต่างกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการจัดทํารายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน พ.ศ.2558 ในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนและระบบฐานข้อมูลที่สาธารณชนเข้าถึงได้...หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ก็จะเป็นมาตรการสำคัญในการช่วยภาครัฐให้มีฐานข้อมูลฝุ่น PM 2.5 ที่ครอบคลุมและเป็นระบบ”

...

วิกฤติฝุ่น PM 2.5 ยังไม่จางหายและคงไม่หมดไปง่ายๆ ในวันนี้ปีนี้ นโยบายและกลไกการทำงานที่ชัดเจนเป็นระบบเป็นสิ่งจำเป็น จะรื้อใหม่...คิดใหม่...ทำใหม่ต้องเดินหน้ากันให้ชัด.