การจัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (2560-2579) โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ เตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในเร็วๆนี้
ผศ.สมพงษ์ มหิงสพันธุ์ หัวหน้าโครงการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ยางพาราฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า ยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำในตลาดซื้อขายยางธรรมชาติ และเป็นผู้ส่งออกยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยางอันดับ 1 ของโลก” โดยในช่วง 1-5 ปีแรก จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาสวนยางที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวน/อุทยานแห่งชาติ การโค่นยางเก่า 25 ปี ปลูกยางพันธุ์ดีทดแทน

ปีที่ 6-10 มุ่งเน้นการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ยางพาราให้ได้มาตรฐาน มอก. การผลักดันรวมทั้งสร้างสิ่งจูงใจให้มีการนำเอาผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดในเชิงพาณิชย์ พร้อมตั้ง “กองทุนอีทีเอฟยางพารา” เพื่อซื้อขายยางจากเกษตรกรล่วงหน้า เหมือนเป็นการประกันราคาให้พี่น้องชาวสวนยาง ไม่ต้องเสี่ยงต่อปัญหายางราคาตกและตั้ง “กองทุนรักษาเสถียรภาพรายได้ของเกษตรกรชาว
...
สวนยาง” ให้เกษตรกรมาสมัครเป็นสมาชิกกองทุน โดยเกษตรกรจะต้องฝากเงินเข้ากองทุนและทาง กยท.จะสมทบเงินเข้าไปตามจำนวนที่เกษตรกรฝาก ไว้เป็นเงินทุนให้เกษตรกรเข้ามากู้ยืมไปใช้จ่ายได้ โดยไม่คิดดอกเบี้ยและการฝากเมื่อครบกำหนด 5 ปี เกษตรกรไม่ได้มากู้ จะจ่ายเงินคืนให้เกษตรกร ทั้งเงินที่เกษตรกรฝากรวมกับเงินสมทบจาก กยท.ด้วย แล้วเริ่มต้นเข้าเป็นสมาชิกกองทุนใหม่อีกครั้ง

ส่วนในปีที่ 11-20 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ จะเน้นไปที่เรื่องการพัฒนา จัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับใช้ทดแทนแรงงานคนในสวนยางในระยะยาว จัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จเกี่ยวกับยางและผลิตภัณฑ์ยางพารา วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากองค์ประกอบที่ไม่ใช่ยางในน้ำยางและจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการค้ายางและผลิตภัณฑ์ยางพาราในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมาย.