กรรมาธิการยุโรปปลดใบเหลือง ให้ใบเขียวประเทศไทย สอบผ่านการทำประมงในแบบไม่สร้างความเสียหายให้ระบบนิเวศของท้องทะเล
ทำเอาทั้งรัฐบาล ข้าราชการ และคนในวงการอุตสาหกรรมประมงยิ้มหน้าบานไปตามๆกัน ไม่ต้องคอยพะวงเรื่องสหภาพยุโรป ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงรายใหญ่ที่สุดในโลก จะมาหาเรื่องกีดกันสินค้าประมงไทยอีกต่อไป ถ้าการบังคับใช้กฎหมายของข้าราชการบ้านเราไม่หย่อนยานไปซะก่อน
วันนี้ผลดีของการทำประมงแบบมีความรับผิดชอบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงจะทำให้ประเทศไทยได้หน้าได้ตา ยังส่งผลดีต่อผู้ทำอาชีพประมงโดยตรงอีกด้วย
ได้วันจับปลามากขึ้น
เพราะนับแต่รัฐบาลมีการออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาบังคับใช้ และมีการออกใช้อนุญาตให้ทำการประมงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ พร้อมกับมีการจัดสรรวันทำประมง เมื่อ 1 เม.ย. 2559
เรือประมงจับสัตว์น้ำหน้าดินใช้เครื่องมืออวนลากคู่ อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง อนุญาตให้จับปลาในอ่าวไทยได้ 220 วัน...อันดามัน 250 วัน
เรือประมงจับปลาผิวน้ำใช้อวนล้อม ทำประมงในอ่าวไทยได้ 220 วัน อันดามัน 235 วัน...ส่วนเรือจับปลากะตักในอ่าวไทยจับได้ 235 วัน อันดามัน 205 วัน
แต่ผลจากนำมาตรการไอยูยูมาใช้ ท้องทะเลกลับมาสมบูรณ์ปลาเริ่มชุกชุม เห็นได้จากปี 2560 ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้ 1,295,009 ตัน...ปี 2561 จับได้ 1,509,031 ตัน เพิ่มขึ้น 16%
เรือประมงพาณิชย์จับได้เพิ่มขึ้น 198,639 ตัน...เรือประมงพื้นบ้านจับได้เพิ่ม 15,383 ตัน
ปี 2562 กรมประมงจึงได้เพิ่มเวลาจัดสรรในการทำประมงเพิ่มขึ้น...เรือจับสัตว์หน้าดิน ฝั่งอ่าวไทยเพิ่มขึ้นอีก 24 วัน ฝั่งอันดามันเพิ่มขึ้น 95 วัน...เรือจับปลาผิวน้ำ ฝั่งอ่าวไทยเพิ่มอีก 125 วัน ฝั่งอันดามันเพิ่มอีก 110 วัน...
...
ส่วนเรือจับปลากะตัก ฝั่งอ่าวไทยเพิ่มอีก 110 วัน ฝั่งอันดามันเพิ่ม 140 วัน.
สะ–เล–เต