“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้ไปด้วยกัน 2 รูป โดยทางเดียวกัน”
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง”
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติภารกิจของพระภิกษุ เพื่อนำเอาคำสอน อันเป็นอมตะ อันเป็นวิทยาศาสตร์ เผยแผ่ไปสู่หมู่มวลมนุษยชาติ
นอกจากนี้...ในสมัยที่ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์อยู่ ได้ตรัสกับ พระอานนท์ ในคราวที่ได้กราบทูลต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงการที่พุทธบริษัทจะได้พึ่งในการสักการบูชาต่อพระองค์ว่า
...
“เจติยะ 3 อย่างคือ บริโภคเจดีย์ (ต้นโพธิ์) ธาตุเจดีย์ (พระบรมสารีริกธาตุ) และอุทเทสิกเจดีย์ (พระพุทธรูป) ที่เมื่อพุทธบริษัทกระทำการบูชาแล้วได้ชื่อว่าบูชาต่อพระตถาคตเช่นกัน ประการหนึ่ง”
ตรัสถึง “สังเวชนียสถาน 4” ที่กุลบุตรผู้เกิดมาในภายหลัง ผู้มีศรัทธาปรารถนาจะกระทำการสักการะต่อพระองค์ ในกาลเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ตาม และแม้เจติยะที่พระองค์ทรงเคยใช้สอยในที่นั้นๆ ซึ่งระบุชื่อของเจติยะนั้นโดยตรง เช่น รัตนบัลลังก์เจดีย์ อนิมิสเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ ปาวาลเจดีย์ เป็นอาทิก็ตาม
เจดีย์เหล่านี้เป็นประหนึ่งองค์แทน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เมื่อพุทธบริษัท 4 มี ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มาเฝ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ ณ สถานที่นั้นๆ พึงจะเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในภพหน้าตามพระดำรัสของพระบรมศาสดา
จากคำตรัสของพระพุทธองค์ในกาลครั้งนั้น ส่งผลมาจนถึงวันนี้ เพราะชาวพุทธทั่วโลกพากันหลั่งไหลเข้าสู่แผ่นดินของพระพุทธองค์เพื่อให้ถึงซึ่งเจติยะ 3 กันอย่างต่อเนื่อง และนับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะชาวพุทธไทยที่มุ่งหน้าสู่สังเวชนียสถาน 4 ตำบลไม่ขาดสาย
...
ขณะที่ พระธรรมทูตไทยสายอินเดีย—เนปาล ซึ่งมี พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย เป็นหัวหน้า ได้ดำเนินการทุกวิถีทางในการชักนำชาวพุทธไทยไปแสวงบุญ
จากวิสัยทัศน์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแนวทางการฟื้นฟูพุทธศาสนาบนแผ่นดินพุทธภูมิ ทั้งเพื่อเพิ่มชาวพุทธให้มีมากขึ้นบนแผ่นดินของพระพุทธองค์ ทั้งเพื่อให้ชาวพุทธไทยได้มีความรู้สึกที่ดีในการได้เดินทางไปปฏิบัติธรรม
พระธรรมโพธิวงศ์ ได้นำเอาทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล รวมทั้งคำสอนต่างๆของพระพุทธองค์ ที่ล่วงเลยมาแล้วกว่า 2,500 ปี มาเผยแผ่เติมเต็มสู่หมู่มวลอุบาสก อุบาสิกา ด้วยการผสมผสานให้เข้ากับยุคปัจจุบัน พร้อมต่อยอดวางแผนเดินหน้าสู่อนาคต
...
นอกจากกิจกรรมในทุกเทศกาลสำคัญของพระพุทธศาสนาจะถูกนำมาดำเนินการเต็มพิกัดแล้ว การอำนวยความสะดวกทุกด้านในส่วนที่คณะพระธรรมทูตจะสามารถทำให้กับผู้แสวงบุญชาวไทยได้ อาทิ สถานที่พัก อาหาร ห้องสุขา ท่านเจ้าคุณวีรยุทธทำทันที
...
ณ วันนี้ นอกจากจะมีผู้แสวงบุญมุ่งหน้าไปปฏิบัติธรรมยัง แดนพุทธภูมิ จนถึงกับมีสายการบินเปิดเส้นทางการบินตรงสู่พุทธคยาเพิ่มขึ้นแล้ว การเข้ารับการบรรพชาอุปสมบททั้งของกุลบุตร กุลธิดา และชาวไทยพุทธ ทั้งจากภาครัฐ เอกชน ที่ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธ์ิ สถานที่ พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ยังมีขึ้นไม่ขาดสายด้วย
หนึ่งในหลากหลายสิ่งนอกจากที่บังเกิดขึ้นดังกล่าวแล้ว โครงการ “ธุดงค์ ธรรมยาตรา ตามรอยบาทพระศาสดา พุทธภูมิ อินเดีย—เนปาล เดินทางตามธรรม สุขล้ำหาใดเสมอ” จึงได้บังเกิดขึ้นตามมาด้วย ถึงปีนี้เป็นปีที่ 6 แล้ว
โครงการนี้ พระธรรมโพธิวงศ์ ได้มอบหมายให้ พระครูนรนาถเจติยาภิรักษ์ (สมพงศ์) รักษาการเจ้าอาวาสวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย เป็นหัวหน้าทีม ร่วมกับ กองงานพระธรรมทูตสายอินเดีย—เนปาล และ พระธรรมทูตไทยทุกวัดบนแดนพุทธภูมิ ดูแลและดำเนินโครงการ
รูปแบบการรับสมัครพระสงฆ์ที่จะเข้าร่วมโครงการจากวัดต่างๆทั่วประเทศคือ การกำหนดอายุพรรษาของการบวช และอายุสังขารที่จะสามารถเดินเท้าธุดงค์ได้ ซึ่งได้มีการทดสอบการปฏิบัติธรรมเบื้องต้น และเตรียมความพร้อมของร่างกายที่ วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี จ.สมุทรปราการ ก่อนมุ่งหน้าสู่อินเดีย เนปาล
ธุดงค์ธรรมยาตรา รุ่นที่ 6 นี้ มีพระภิกษุจากทุกภาคทั่วประเทศผ่านการคัดเลือกรวม 108 รูป อุบาสก 9 คน มาจาก 47 จังหวัด 99 วัด จากภาคเหนือ 8 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด ภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 7 จังหวัด
โดยมี พระอาจารย์ประวัติ ปวัติโต อายุ 35 พรรษา 15 จากวัดนาคปรก ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้เดินนำคณะ
ส่วนเส้นทางการเดินธุดงค์ด้วยเท้าในอินเดียและเนปาลครั้งนี้ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 1,836 กิโลเมตร ใช้เวลาการเดินทางทั้งสิ้น 75 วัน ซึ่งออกเดินธุดงค์จากจุดเริ่มต้นที่ วัดไทยพุทธคยา แผ่นดินแห่งการประสูติ ไปแล้วเมื่อวันปีใหม่ที่ผ่านมา
ทันทีที่คณะพระธุดงค์เริ่มออกเดิน “เจ้าโส” สุนัขแสนรู้ของวัดไทยพุทธคยา ได้ออกเดินติดตามทำหน้าที่เป็น รปภ.ให้กับคณะพระธุดงค์ ตามที่เคยปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งนี้
“เจ้าโส” จะมีความสุขทุกครั้งที่ได้ออกเดินทำหน้าที่ของตัวเองตลอดระยะทางอันยาวไกล ที่ “เจ้าโส” เฝ้ารอให้ถึงช่วงเวลาของกิจกรรมนี้มาตลอดทั้งปี จน “เจ้าโส” กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้ไปแล้ว ท่ามกลางความชื่นชมของผู้ที่ได้พบเห็นตลอดเส้นทาง
ขณะที่เส้นทางการเดินธุดงค์และระยะเวลาการเดินในแต่ละจุดประกอบด้วย จากพุทธคยา สถานที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ไปยัง สารนาถ เมืองพาราณสี สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ระยะทาง 245 กม. ใช้เวลาเดิน 9 วัน
จาก สารนาถ ไปยัง เมืองโกสัมพี เมืองหลวงของแคว้นวังสะ ระยะทาง 196 กม. ใช้เวลาเดิน 8 วัน/ จากเมืองโกสัมพีไปยัง สังกัสสนคร สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ระยะทาง 350 กม. ใช้เวลาเดิน 15 วัน
จาก สังกัสสนคร ไปยัง ลักเนาว์—สาวัตถี—วัดเชตวันมหาวิหาร สถานที่ทรงจำพรรษานานที่สุด ระยะทาง 350 กม. ใช้เวลาเดิน 15 วัน/จาก สาวัตถี ไป ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล สถานที่ พระพุทธเจ้าประสูติ ระยะทาง 142 กม. ใช้เวลาเดิน 6 วัน
จาก ลุมพินีวัน ไป กุสินารานคร สถานที่ดับขันธปรินิพพาน ระยะทาง 138 กม. ใช้เวลาเดิน 7 วัน/จากกุสินารานครไปมหาสถูปเกสรียา—ไวสาลี—ปาวาลเจดีย์—ราชคฤห์—ดงคสิริ—พุทธคยา ระยะทาง 415 กม. ใช้เวลาเดิน 15 วัน โดยจะไปปิดโครงการที่พุทธคยา ในวันที่ 2 เมษายน2562
ก่อนออกเดินและหลังการหยุดพักประจำวัน รวมถึงเมื่อไปถึงสถานที่สำคัญทุกสังเวชนียสถาน คณะพระธุดงค์จะปักกลดปฏิบัติธรรม แผ่เมตตาสู่ชาวโลกด้วยการเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนา ออกบิณฑบาตโปรดชาวอินเดีย เนปาล และชาวไทยที่ไปแสวงบุญ
สำหรับกิจกรรมอันดีงามที่เกิดขึ้นนี้ ท่านที่มีความประสงค์จะร่วมบริจาคเป็นเจ้าภาพค่าใช้จ่ายต่างๆ สามารถโอนเข้าบัญชี “กองทุนครูพระธุดงค์พุทธภูมิ” ธนาคารกสิกรไทย สาขาเจริญกรุง เลขที่บัญชี 018-3-80199-6 หรือบริจาคได้ที่วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี ต.ศีรษะจรเข้น้อย อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ โทร.09-6956-9235
กุศลแรงยิ่งนักครับพุทธบริษัททั้งหลาย สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ.
เด่นชัย เด่นชัยประดิษฐ์