ผู้เชี่ยวชาญข้าวโพดหวั่น นโยบายชวนชาวนาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาปี เพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 2 ล้านไร่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะทำให้เกษตรกรเดือดร้อนกว่าทำนา
ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ ผอ.ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ใช่เรื่องง่าย มีปัจจัยหลายอย่างที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ และไม่มีความชำนาญในการปลูก อันดับแรก การเลือกสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่างๆ อย่างพันธุ์สุวรรณ 4452 กับพันธุ์นครสวรรค์ 3 ราคาเมล็ดพันธุ์ อยู่ที่ กก.ละ 90 บาท ขณะที่เมล็ดพันธุ์ของเอกชนอยู่ที่ กก.ละ 180 บาทขึ้นไป เพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกร กระทรวงเกษตรฯจะต้องเข้ามา ช่วยดูแลเรื่องนี้ด้วย

“ที่สำคัญการให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนร่วมโครงการภายใน 31 ธ.ค.61 อาจจะช้าไป ไม่ทันกาล เพราะการปลูกข้าวโพดหลังนาควรปลูกให้เสร็จก่อนกลางเดือนธันวาคม เพื่อไม่ให้กระทบแล้งในช่วงออกดอก ดินที่เหมาะสมควรระบายน้ำได้ดี เป็นดินร่วน ดินร่วนเหนียว หรือดินร่วนทราย หลีกเลี่ยงดินเหนียวจัด ถ้าปลูกแบบยกร่องได้จะดีมาก เพราะข้าวโพดทนน้ำท่วมได้ไม่เกิน 7 วัน และทนแล้งได้ 7 วันเช่นกัน แต่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนามีอัตราเสี่ยงมากกว่าข้าว เพราะถ้าเกิดฝนตกน้ำท่วม หรือแล้งจัดผลผลิตจะเสียหายทั้งแปลง ไม่เหมือนข้าวที่เกษตรกรชำนาญมากกว่า และเมื่อเกิดความเสียหายก็เพียงบางส่วน ไม่ทั้งแปลงเหมือนข้าวโพด”
...

สำหรับพื้นที่เหมาะสมกับการปลูก ดร.โชคชัย แนะว่า ควรอยู่ในพื้นที่เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ส่วนพื้นที่ต่ำลงมา พิจิตร นครสวรรค์ จะมีปัญหาด้านความชื้นและน้ำท่วมบ่อย ข้าวโพดอาจรากเน่าตายได้ง่าย ภาคอีสานให้ระวังอากาศร้อนจัดทำข้าวโพดไม่ติดเมล็ด

ส่วนโรคแมลงและศัตรูพืช คือราน้ำค้าง เพลี้ยไฟ และหนู มักจะเข้าทำลายในช่วงฤดูแล้ง กัดกินตั้งแต่เป็นจาว ลำต้น และฝักข้าวโพด ดังนั้น เกษตรกรจะต้องขยันตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อได้ผลผลิตแล้วจะต้องส่งเข้าโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฉะนั้น เมื่อรัฐสนับสนุนควรออกมาดูแลเรื่องราคาให้ด้วย เกษตรกรถึงจะมีรายได้คุ้มทุน.