กุหลาบชนิดนี้ มีที่มาพันธุ์คือ “ป้าบัติ” เจ้าของแผงจำหน่ายไม้ดอกบริเวณโครงการ 2 ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ที่เปิดขายเฉพาะไม้ดอกไม้ผลเพียงอย่างเดียวทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ซึ่งปัจจุบัน “ป้าบัติ” ไม่ได้ขายกุหลาบแล้ว ได้รับกิ่งพันธุ์แท้มาจากเจ้าหน้าที่โครงการหลวง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ นานหลายปีแล้ว และเจ้าหน้าที่ของโครงการหลวงจำไม่ได้ว่าเป็นกุหลาบนำเข้าจากประเทศไหน บอกได้เพียงว่าในประเทศไทยเรียกกุหลาบดังกล่าวมาช้านานว่า “กุหลาบจุฬาลงกรณ์” เมื่อนำต้นพันธุ์ที่ได้ไปปลูกจนมีดอก ปรากฏว่าดอกมีขนาดใหญ่สีสันของดอกงดงามมาก เลยขยายพันธุ์ออกวางขายได้รับความนิยมจากผู้ซื้อไปปลูกอย่างแพร่หลาย ต่อมาทราบว่ามีผู้เอาต้นไปขยายพันธุ์ขายในชื่อว่า “กุหลาบไร้หนาม” ซึ่งก็ขอยืนยันว่าเป็นต้นเดียวกันอย่างแน่นอน

กุหลาบจุฬาลงกรณ์ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เกือบเหมือนต้นกุหลาบทั่วไปทุกอย่าง จะมีข้อแตกต่างกันเพียงจุดเดียวได้แก่ ลำต้นของ “กุหลาบจุฬาลงกรณ์” จะไม่มีหนามแหลมเท่านั้น ใบมีขนาดใหญ่กว่าอย่างชัดเจน ดอกเป็นสีชมพูอมม่วงเล็กน้อย กลีบดอกมีจำนวนมากเรียงซ้อนกันหลายชั้น ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ และดอกมีขนาดใหญ่เมื่อบานเต็มที่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4–5 นิ้วฟุต มีเกสรตัวผู้เป็นกระจุกบริเวณใจกลางดอก เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามพร้อมส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ลมพัดโชยเข้าจมูกทำให้สดชื่นใจยิ่งนัก ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง และติดตา

เคยมีต้นแท้ขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผง “คุณตุ๊ก” หน้าตึกกองอำนวยการเก่า ปัจจุบันจะยังมีขายอยู่หรือไม่ต้องไปสอบถามกันเอาเอง ซึ่ง “กุหลาบจุฬาลงกรณ์” ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกทั้งแบบลงดินกลางแจ้งหลายๆต้น และปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ ตั้งในที่ที่มีแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน รดน้ำพอชุ่มเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยสูตร 16-16-16 เดือนละครั้ง พร้อมตัดแต่งกิ่งสม่ำเสมอจะมีดอกสวยงามมากครับ.

...

“นายเกษตร”