สถานการณ์ความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถาน ลุกลามบานปลายเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากกองทัพอินเดียเปิดการโจมตีดินแดนพิพาทฝั่งความดูแลของปากีสถานในรัฐจัมมู-แคชเมียร์

ขณะที่กองทัพปากีสถานได้ทำการตอบโต้ในช่วงสุดสัปดาห์ แต่ในภาพรวมถือว่า ทั้งสองฝ่ายยังไปไม่สุด ไม่มีการส่งกำลังทหารเข้าไปรุกรานอาณาเขตเหมือนกับสงครามใหญ่ ระหว่างยูเครน-รัสเซีย

กระนั้น สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงจับตากันอย่างคึกคัก คือการเปิดศึกเวหาระหว่างกองทัพอากาศอินเดียและปากีสถาน ซึ่งรอบนี้ยกระดับ จากปี 2562 เนื่องด้วยมีรายงานในเบื้องต้นว่า เครื่องบินรบอินเดียตก 3-5 ลำ

แม้จะไม่มีข้อมูลยืนยันอย่างชัดเจนแต่แหล่งข่าวความมั่นคงที่ให้ข้อมูลประติดประต่อเรื่องราว เปิดเผยว่า การต่อสู้ทางอากาศ ครั้งนี้ใช้เวลาทำศึกในหลักชั่วโมง และมีเครื่องบิน รบเกี่ยวข้องในการปะทะกว่า 125 ลำ

การปะทะที่เกิดขึ้นไม่ใช่การปะทะแบบ ในหนังสงคราม ที่เครื่องบินรบทั้งสองฝ่าย ต่างพุ่งเข้าหากันและรบกันพันตูในระยะประชิดแบบ “ด็อคไฟต์” แต่เป็นการรบแบบ สงครามยุคใหม่ ต่างฝ่ายต่างใช้จรวดระยะไกล ยิงเข้าใส่กันในระยะนอกสายตา หรือ BVR บียอนด์ วิชวล เรนจ์

และถือเป็นสนามประลองของอาวุธจาก หลายค่าย โดยจรวดกองทัพอากาศอินเดียเป็นลูกผสม มีทั้งของสหรัฐฯ ฝรั่งเศส-อิสราเอล ไปจนถึงค่ายรัสเซีย ขณะที่จรวดของกองทัพอากาศปากีสถานใช้ของสหรัฐฯเป็นหลัก เพียงแต่ครั้งนี้มีรายงานหนาหูว่า ปากีสถานหลีกเลี่ยงการใช้เอฟ-16 เพราะไม่อยากมีปัญหากับสหรัฐฯ

เลยเป็นที่มาของข่าวว่า เครื่องที่ถูกส่งลงสนามรบของฝั่งปากีสถานคือเครื่องบินรบสัญชาติ “จีน” รุ่นเจ–10 เฉิงตู ซึ่งมีปากีสถานเป็นลูกค้ารายแรก และจรวดที่ถูกนำมาใช้ (ดูจากหลักฐานซากชิ้นส่วนที่ตกในฝั่งอินเดีย) คือ จรวด พีแอล–15 สำหรับยิงระยะนอกสายตาของกองทัพจีน ที่นักวิเคราะห์เชื่อว่ามีศักยภาพใกล้เคียงกับจรวด มีทีเออร์ ผลงานชิ้นโบแดงที่เกิดจากการพัฒนาร่วมของอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน สวีเดน

...

แน่นอนว่าการรบทางอากาศไม่ได้วัดผลกันที่สมรรถนะของจรวดและเครื่องบินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆมาควบคู่ เช่น ระบบตรวจจับทางอากาศการ เชื่อมโยงข้อมูล การฝึกซ้อม หรือกระทั่งกลยุทธ์ ทว่าศึกครั้งนี้การสูญเสียที่เกิดขึ้นกับ กองทัพอากาศอินเดียย่อมส่งผลให้อาวุธค่ายจีนได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะได้รับ การยืนยันแล้วว่าใช้ได้ผลในสนามรบจริง.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม