ไม่นานมานี้ มีข่าวคราวว่ารัฐบาลอินโดนีเซียกำลังพิจารณาเสนอชื่ออดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย คนที่ 2 อย่าง “พลเอกมูฮัมหมัด ซูฮาร์โต” ให้เป็น “วีรบุรุษแห่งชาติ” ในปีนี้ จากที่เคยมีการพิจารณามาก่อนตั้งแต่ปี 2553

แม้ในช่วงเวลา 32 ปี (นับแต่ปี 2510 จนถึงปี 2541) ที่อินโดนีเซียอยู่ภายใต้การบริหารการปกครองโดยซูฮาร์โต ได้สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง อีกทั้งซูฮาร์โตในความทรงจำของชาวอินโดนีเซียบางกลุ่มยังถูกจดจำในฐานะ “บิดาแห่งการพัฒนา”

โดยอดีตผู้นำคนนี้เป็นบุคคลที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษา และการสาธารณสุขได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงยังทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในประเทศอินโดนีเซียเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ข้อมูลจากธนาคารโลกเผยว่า GDP ของอินโดนีเซียในปี 2511 ซึ่งอยู่ที่ 7,500 ล้านดอลลาร์ ทะยานสู่ 242,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2539

ขณะที่มีคำกล่าวอ้างว่า ณ ห้วงเวลาที่ซูฮาร์โตปกครองประเทศนั้น มีประเด็น การคอร์รัปชัน เช่น มักมีการเอื้อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจให้แก่ครอบครัวและผู้มีความใกล้ชิดกับซูฮาร์โต โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติยังอ้างว่า ซูฮาร์โตยักยอกเงินรัฐรวมมูลค่าถึง 35,000 ดอลลาร์ อาจถือได้ว่าเป็นผู้นำที่คอร์รัปชันมากสุดในโลก

รวมถึงประเด็น การละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตราว 500,000 ราย พุ่งเป้าไปที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดนีเซีย ชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน และกลุ่มคนที่เชื่อว่าเป็นฝ่ายซ้าย

 การพิจารณาเสนอชื่ออดีตผู้นำซูฮาร์โตเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ ยังเรียกเสียงต่อต้านและสร้างอารมณ์คุกรุ่นในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะจากกลุ่มองค์กรสนับสนุนสิทธิมนุษยชน เช่น คณะกรรมการเพื่อการสูญหายและเหยื่อของความรุนแรง (Kontras) คัดค้านรัฐบาลว่าเป็นการพยายามลบล้างประวัติศาสตร์ และฟอกขาวการกระทำของซูฮาร์โต ด้านนายไซฟูลลาห์ ยูซุฟ รมว.กิจการสังคมของอินโดนีเซีย เผยว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาอย่างระมัดระวัง และต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน จากทั้งรัฐบาลท้องถิ่น นักประวัติศาสตร์และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง.

...

ญาทิตา เอราวรรณ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม