จักรพรรดิอู๋ เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์โจวเหนือในจีนโบราณ ภายใต้รัชสมัยของพระองค์ตั้งแต่ปีพ.ศ.1103–1121 ทรงสร้างกองทัพที่เกรียงไกรและได้รับการยกย่องว่ารวมพื้นที่ทางตอนเหนือของจีนโบราณเข้าด้วยกันหลังจากเอาชนะราชวงศ์ฉีเหนือ นักโบราณคดีค้นพบหลุมฝังศพของจักรพรรดิอู๋ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนในปีพ.ศ.2539 แต่พระพักตร์ของจักรพรรดิจีนในศตวรรษที่ 6 พระองค์นี้เมื่อ 1,500 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร ท้าทายให้นักโบราณสืบค้น
วิธีที่นักวิจัยเชื่อว่าจะเฉลยในสิ่งที่พวกเขาสงสัย ก็คือการวิเคราะห์สารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอจากซากพระศพของจักรพรรดิอู๋ ที่ประกอบด้วยกระดูกและกะโหลกพระเศียรที่เกือบจะสมบูรณ์ และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพระวรกาย พระพักตร์ พระพลานามัย และบรรพบุรุษของพระองค์ ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยที่ร่วมด้วยนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ในนครเซี่ยงไฮ้ ของจีน ระบุว่าจักรพรรดิอู๋มาจากกลุ่มชนเร่ร่อนกลุ่มเล็กๆที่เรียกว่าเซียนเป่ย (Xianbei) เป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือมองโกเลีย รวมถึงทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยก่อนหน้านี้ มีนักวิชาการบางคนเชื่อว่าชาว เซียนเป่ย มีรูปลักษณ์ที่แปลก เช่น เคราหนา จมูกโด่งสูง และผมสีเหลือง
ทว่าการวิเคราะห์จีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมด และเรียงลำดับจากดีเอ็นเอ จนสร้างพระพักตร์ของจักรพรรดิอู๋ขึ้นมาใหม่ในแบบ 3 มิติ บ่งชี้ว่าจักรพรรดิอู๋ มีพระเนตรสีน้ำตาล พระเกศาสีดำ และมีพระฉวีหรือสีผิวเข้มถึงปานกลาง โดยมีลักษณะพระพักตร์ตามแบบฉบับของ เอเชียตะวันออกหรือเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่