ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของ “อินโดนีเซีย” ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ 17,500 เกาะ ส่งผลให้เป็นหนึ่งในดินแดนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตั้งแต่แนวปะการังใต้ท้องทะเลไปจนถึงภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น ล้วนหล่อหลอมภูมิประเทศอันอุดมสมบูรณ์มีชีวิต ชีวาเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชพรรณนานาชนิด

รวมทั้ง “ดอกเอเดลไวส์” สายพันธุ์ชวา (Anaphalis javanica) ดอกไม้ “ศักดิ์สิทธิ์” สำหรับทุกพิธีกรรม สัญลักษณ์ของความเป็น “นิรันดร์” ของชนพื้นเมือง “เต็งเกอร์” ที่อาศัยอยู่รอบๆภูเขาไฟโบรโมดินแดนแห่งการบูชาที่ไม่ควรล่วงเกินในจังหวัดชวาตะวันออก ทางตะวันออกของเกาะชวามายาวนานหลายร้อยปี

การที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูงระดับตั้งแต่ 2,000 เมตรขึ้นไป ในอุณหภูมิระหว่าง 16-23 องศาเซลเซียส บวกกับความต้องการอย่างมากและกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ถือว่าดอกเอเดลไวส์เป็นสัญลักษณ์ของความรักนิรันดร์ ส่งผลให้ครั้งหนึ่งดอกเอเดลไวส์อยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงสูญพันธุ์ กระทั่งรัฐบาลอินโดนีเซียขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในพืชที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2533

ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างอุทยานแห่งชาติโบรโม เต็งเกอร์ เซเมรู ยังริเริ่มโครงการ เพาะพันธุ์และขยายพันธุ์ “ดอกเอเดลไวส์” สายพันธุ์ชวา ที่ “Desa Wisata Edelweiss” เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์และสถานที่ท่องเที่ยว ที่หมู่บ้านโวโนกิตรี ของชุมชนชาวเต็งเกอร์ ในเมืองปาซูรูอัน จังหวัดชวาตะวันออกไม่ไกลจากภูเขาไฟโบรโม ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการหวงแหนและพัฒนาต่อยอดมรดกล้ำค่าจากธรรมชาติ ขณะที่ผู้มาเยี่ยมชมยังจะได้ชื่นชมทัศนียภาพอันงดงามของป่าเขาเขียวขจี ไปพร้อมๆกับเรียนรู้กระบวนการทั้งหมด รวมทั้งโอกาสได้ลองปลูกต้นเอเดลไวส์ด้วยตนเอง ช่วยให้เข้าใจถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ดอกเอเดลไวส์ได้ดียิ่งขึ้น

...

เจ้าหน้าที่ของ Desa Wisata Edelweiss เล่าว่า การเพาะปลูกดอกเอเดลไวส์ไม่เพียงแต่เป็นการอนุรักษ์ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น และช่วยรักษาจิตวิญญาณและรากเหง้าของชุมชนให้อยู่ในระดับสูงเฉกเช่นแหล่งปลูก.

อมรดา พงศ์อุทัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม