ปัจจุบันมีการค้นพบดาวเคราะห์มากกว่า 5,000 ดวงที่โคจรรอบดาวฤกษ์อื่นที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ บ่อยครั้งพบว่าพวกมันอยู่ภายในระบบที่แตกต่างจากระบบสุริยะของเรา เพื่อทำความเข้าใจความหลากหลาย นักดาราศาสตร์จึงสังเกตจานหมุนวนที่อุดมด้วยฝุ่นและก๊าซ ซึ่งห่อหุ้มดาวฤกษ์ทารกและจานฝุ่นก๊าซนี้คือแหล่งกำเนิดดาวเคราะห์นั่นเอง ทว่าสิ่งเหล่านี้จะพบได้แจ่มแจ้งที่สุดก็ในกลุ่มเมฆก๊าซขนาดมหึมาที่เป็นที่ที่ดาวฤกษ์กำลังก่อตัว
ล่าสุดทีมนักดาราศาสตร์นำโดยคริสเตียน กินสกี นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกัลเวย์ ในไอร์แลนด์ เผยผลศึกษาที่ให้ความกระจ่างใหม่ถึงกระบวนการก่อตัวดาวเคราะห์ที่น่าทึ่งและซับซ้อน โดยอาศัยภาพจากกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่มากของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป ในชิลี รวบรวมดาวฤกษ์อายุน้อยทั้งหมด 86 ดวงทั่วบริเวณกำเนิดดาว 3 แห่งในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา ได้แก่ กลุ่มดาววัว และกลุ่มดาวกิ้งก่าคะมีเลียน 1 ห่างจากโลกประมาณ 600 ปีแสง และกลุ่มดาวนายพราน ซึ่งเป็นเมฆที่อุดมด้วยก๊าซ อยู่ห่างจากเรา 1,600 ปีแสง
ทีมเผยว่า ได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญหลายประการจากชุดข้อมูล เช่น ในกลุ่มดาวนายพรานพบว่าดาวฤกษ์ที่อยู่ในกลุ่มตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปมีโอกาสน้อยที่จะมีจานฝุ่นก๊าซที่ก่อตัวดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ และลักษณะที่ไม่สม่ำเสมอของจานฝุ่นในภูมิภาคนี้ ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่จะฝังอยู่ภายใน และอาจทำให้จานฝุ่นก๊าซบิดเบี้ยวและไม่ตรงแนวได้.
Credit : ESO/Christian Ginski/University of Galway
...