เมื่อเร็วๆนี้ มีรายงานว่าซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของไดโนเสาร์หายากขนาดเล็กชื่อ Ubirajara jubatus ถูกเยอรมนีส่งคืนแก่บราซิลหลังจากขัดแย้งกันเกือบ 3 ปี เนื่องจากเกิดเรื่องอื้อฉาวทางวิทยาศาสตร์และจริยธรรม ที่นักวิจัยชาวบราซิลกล่าวหาว่า ทีมงานชาวเยอรมันอยู่เบื้องหลังการนำฟอสซิลออกจากบราซิลอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งกฎหมายบราซิลกำหนดให้ฟอสซิลที่พบในบราซิลเป็นสมบัติของรัฐ และนักวิจัยต่างชาติต้องร่วมมือกับสถาบันในบราซิลหากต้องการนำออกไปศึกษาวิจัย

ฟอสซิลของ Ubirajara jubatus ถูกค้นพบในปี 2533 โดยทีมนักบรรพชีวินวิทยาในรัฐเซอานา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล พวกเขานำฟอสซิลไปศึกษาที่เยอรมนี และจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในเมืองคาร์ลสรูเออ ชุมชนวิทยาศาสตร์ในบราซิลจึงเริ่มรณรงค์ออนไลน์เรียกร้องให้นำฟอสซิลกลับคืน ภายใต้แฮชแท็ก #UbirajarabelongstoBR ล่าสุด กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของบราซิลออกแถลงการณ์ว่า ซากฟอสซิลของ Ubirajara jubatus ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ไม่มีปีกตัวแรกที่มีโครงสร้างมีขนคล้ายนกและพบในอเมริกาใต้ ถูกส่งกลับมาบราซิลแล้ว โดยคณะผู้แทนที่นำโดย แอนนาลีนา แบร์บอค รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ได้ส่งคืนฟอสซิลในระหว่างการเยือนกรุงบราซิเลีย ของบราซิล เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

...

Ubirajara jubatus เคยท่องในอเมริกาใต้เมื่อ 110 ล้านปีก่อน มันเป็นสายพันธุ์ที่มีรูปแบบแรกเริ่มของขนนกและมีแท่งคล้ายหอกยื่นออกมาจากไหล่ นักวิทยาศาสตร์ระบุในเอกสารเมื่อปี 2563 ว่า นี่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่รู้จักมาก่อน ทั้งนี้ ฟอสซิลนี้หนัก 11.5 กิโลกรัม จะถูกเก็บในพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ของมหาวิทยาลัยในรัฐเซอานา.