ญี่ปุ่นกับไทยเหมือนกันตรงต่างมีสถานะเป็น MNNA หรือ Major Non-NATO Ally หรือพันธมิตรหลักนอกนาโต นอกจากนั้น ญี่ปุ่นสมัยนายอาเบะเป็นนายกรัฐมนตรียังมีบทบาทในการสร้างวงจัตุรัสหรือควอด Quad ซึ่งมีสมาชิก 4 ประเทศคือสหรัฐฯ ออสเตรีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อลดบทบาทของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ญี่ปุ่นเคยกลัวการขยายตัวของรัสเซียเข้ามาในแมนจูเรียและคาบสมุทรเกาหลีถึงขนาดทำสงครามกับรัสเซียใน ค.ศ.1904-1905 และก็ชนะสงคราม ต่อมาโซเวียตกับญี่ปุ่นทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน ทว่าตอนหลังสตาลินขอยกเลิกสัญญานี้ และรุกไปยึดดินแดนทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ฐานะผู้แพ้สงครามก็ตระเวนไปลงนามสนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศผู้ชนะสงคราม ยกเว้นเพียงประเทศเดียวคือสหภาพโซเวียต ซึ่งผู้สืบสิทธิคือรัสเซีย
เหตุที่ญี่ปุ่นกับรัสเซียยังไม่ลงนามสนธิสัญญาสันติภาพกันเพราะยังตกลงกันไม่ได้ในเรื่องข้อพิพาทดินแดนทางตอนเหนือของญี่ปุ่นที่สหภาพโซเวียตยึดไปตั้งแต่ปลายสงคราม ต่อมาภายหลังญี่ปุ่นก็ไปยืนอยู่ในกลุ่มของประเทศที่ต่อต้านรัสเซีย (และจีน) กลุ่มนี้มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ
ทันทีที่สงครามรัสเซีย-อูเครนอุบัติขึ้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ญี่ปุ่นประกาศตัวชัดเจนว่าต่อต้านรัสเซีย ร่วมมือกับสหรัฐฯและนาโตลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย แซงก์ชันไม่ซื้อน้ำมันและสิ่งของอื่นใดจากรัสเซีย ความตั้งใจของญี่ปุ่นก็เหมือนกับสหรัฐฯ ยุโรป ออสเตรเลีย และแคนาดา ประเทศพวกนี้คิดว่า ถ้าไม่ซื้อสินค้ารัสเซีย รัสเซียก็ไม่มีเงิน ไม่มีเงินก็อ่อนแอ ทำให้นาโตและอูเครนจะไล่ทุบรัสเซียที่อ่อนแอได้ง่าย
ญี่ปุ่นร่วมกับสหรัฐฯและตะวันตกกำหนดเพดานราคาน้ำมันนำเข้าจากรัสเซียและหยุดนำน้ำมันจากรัสเซียเข้ามาในประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นต้องซื้อพลังงานจากประเทศอื่นซึ่งมีราคาแพง ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ผลิตรายสำคัญของโลก มีโรงงานบานเบอะเยอะแยะอยู่ในทุกตรอกซอกมุม โรงงานเดินได้เพราะเครื่องจักร เครื่องจักรเดินได้เพราะน้ำมัน น้ำมันแพงทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าญี่ปุ่นสูง สู้ราคากับประเทศอื่นไม่ได้ เมื่อญี่ปุ่นรู้ว่าพันธมิตรทั้งหลายที่แซงก์ชันรัสเซีย ในความเป็นจริงก็แอบซื้อพลังงานจากรัสเซียกันทั้งนั้น
...
นายซูนิชิ ไคโตะ ประธานสมาคมปิโตรเลียมของญี่ปุ่น ออกมาโอดโอยโหยหวนตีหน้าเศร้าเล่าความจริงว่าญี่ปุ่นต้องกลับมานำเข้าน้ำมันจากรัสเซียอีกครั้ง และแล้วเดือนมกราคม 2023 ญี่ปุ่นก็ซื้อน้ำมันดิบจากโครงการน้ำมันและก๊าซ Sakhalin–2 จากภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย บริษัทที่บริหารจัดการเรื่องนี้คือบริษัท ไทโย ออยล์ ของญี่ปุ่น
หลังจากกระโจนเข้าไปอยู่ฝ่ายสหรัฐฯเต็มตัวในสงครามรัสเซีย-อูเครน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานของญี่ปุ่นก็สูงขึ้น อย่างในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบเกือบ 32 ปี สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็ยังสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่นกำหนดไว้ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็ยังโชคดีที่ไม่เจอภาวะเศรษฐกิจที่ซวนเซเรรวนรุนแรงเหมือนกับพันธมิตรของสหรัฐฯชาติอื่น
รัสเซียกับญี่ปุ่นมีพรมแดนประชิดติดกัน ญี่ปุ่นติดกับภาคไซบีเรียของรัสเซียซึ่งมีป่าไม้และแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์มาก รัสเซียเป็นประเทศกว้างใหญ่ไพศาล แต่มีประชากรน้อย ประชากรไม่เพียงพอต่อการพัฒนาทรัพยากร รัสเซียเคยหวังพึ่งพาญี่ปุ่นให้ข้ามมาพัฒนาทรัพยากรโดยเฉพาะการลงทุน สมัยประธานาธิบดีเยลต์ซินและนายกฯ ฮาชิโมโต ก็มีการลงนามในแผนการสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเมืองคราสโนยาร์สค์ เมื่อ ค.ศ.1997 แต่ความที่ญี่ปุ่นอิงแอบแนบชิดกับสหรัฐฯมาก ทำให้ความสนใจในการเข้าไปลงทุนในรัสเซียมีน้อย
สหรัฐฯและชาติพันธมิตรนาโต สหภาพยุโรป ออกมาตรการแซงก์ชันรัสเซียมาเรื่อยๆ ประกาศให้โลกรู้ว่าตนไม่ชอบรัสเซีย ไม่คบค้าสมาคมกับรัสเซีย ไม่ซื้อของรัสเซีย แต่ในความเป็นจริงก็อย่างที่ผมเรียนไปแล้วนั่นละครับ พวกนี้อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีทรัพยากรพลังงานจากรัสเซียไปใช้.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com