ในแวดวงนักวิเคราะห์ความมั่นคง เคยมีการระบุถึงประสิทธิภาพของกองทัพอากาศ “รัสเซีย” ว่าต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งเป็นผลพวงจากมุมมองในแง่ลบภายในเหล่าทัพรัสเซีย ที่อาจเรื้อรังมายาวนานตั้งแต่ยุคสงครามเย็น หรืออาจย้อนกลับไปตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าทัพฟ้าก็ไม่ต่างอะไรกับ “ปืนใหญ่ที่บินได้”

คำว่าปืนใหญ่บินได้ ถ้าจะแปลให้เข้าใจง่ายๆคือ เครื่องบินรบมีไว้เพื่อบินไปทิ้งระเบิดและก็บินกลับฐานทัพ ทำเช่นนี้วนไป ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ในสงครามโลกครั้งที่ 2 รูปการณ์ก็เป็นเช่นนั้น กองทัพอากาศโซเวียตส่งเครื่องบินไล่ล่ารถถังนาซีเยอรมนี ส่งเครื่องบินขับไล่ปะทะกับเครื่องบินรบข้าศึก ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนักปูพรมหลังแนวรบ แต่ก็ไม่ได้มีการประสานงานที่ชัดเจนกับกองทัพบก กลับเป็นลักษณะต่างคนต่างรบเสียมากกว่า

ข้ามมาสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากเดิม กองทัพอากาศถูกใช้ในปฏิบัติการโจมตีภาคพื้นดิน ไล่ล่าทำลายเป้าหมายต้องสงสัยในพื้นที่ต่างๆก่อนบินกลับฐาน น้อยครั้งที่จะถูกนำไปใช้สนับสนุนทหารราบ ร่วมปฏิบัติการตั้งรับหรือเข้าตีที่มั่น

จวบจนมาสงครามครั้งล่าสุดนี้ในยูเครน กองทัพอากาศรัสเซียก็ยังคงทำเหมือนเดิมกับสงครามครั้งก่อนๆ ภาพที่ปรากฏคือ เครื่องบินโจมตีภาคพื้นดินซู-25 บินยิงจรวดแบบไม่นำวิถีใส่เป้าหมาย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เฮลิคอปเตอร์ซีรีส์เอ็มไอ บินมายิงร็อกเกตพอด แบบไม่เล็งเป้า ใช้รูปแบบบินเชิดหัว 45 องศา และกดปล่อยจรวดเพื่อเพิ่มระยะยิง กระสุนตกสู่เป้าหมายแบบสุ่ม ไร้ความแม่นยำ

เป็นคำถามที่ตามมาและยังไม่มีใครได้คำตอบว่า กองทัพอากาศรัสเซียเล่นอะไรอยู่ ขนาดนักวิเคราะห์ตะวันตกยังตั้งคำถามว่า หรือเอาเข้าจริงแล้วแสนยานุภาพทางอากาศที่เชื่อกันนั้น เป็นเพียงแค่ “เปลือก” หรือไม่ และเอาเข้าจริงแล้วรัสเซียยังไม่เข้าใจเรื่องการประสานงานอย่างซับซ้อนระหว่างทัพบกและทัพอากาศหรือเปล่า ไปจนถึงคำถามว่าสงครามที่ดำเนินมากว่า 1ปี ทำไมรัสเซียยังครองน่านฟ้าไม่ได้ ระบบต่อต้านอากาศของยูเครนดีเลิศขนาดนั้น เพราะเครื่องบินรบรัสเซียที่ตกส่วนใหญ่ก็จะได้รับแจ้งว่าเกิดจากการยิงกันเอง

...

ทุกอย่างค่อนข้างบ่งชี้ว่า ทฤษฎีกองทัพอากาศรัสเซียถูกปฏิบัติเป็นลูกเมียน้อย ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ดูท่าจะจริงหรือไม่แม้จะคัดค้านสายตาเท่าไรก็ตามที!?

ตุ๊ ปากเกร็ด