ประเทศหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อโลก แต่เราให้ความสำคัญ กับเขาน้อยไปนิด และมีการหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศนี้น้อยเกินไป ประเทศนี้มีพื้นที่อยู่ทั้งในยุโรปและเอเชีย นั่นคือสาธารณรัฐตุรกี ก่อนหน้านี้ ตุรกีคืออาณาจักรออตโตมันอันยิ่งใหญ่ ที่ล่มสลายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 1 มีการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีใหม่ใน ค.ศ.1923 ปีถัดมาก็เนรเทศราชวงศ์ออตโมมัน ตั้งรัฐฆราวาสนิยมที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว

ตุรกีร่วมนาโตใน ค.ศ.1952 และเริ่มเจรจาเพื่อขอเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปเมื่อ ค.ศ.2005 พอถึง ค.ศ.2011 ก็เกิดวิกฤติอาหรับสปริงและความขัดแย้งระหว่างตุรกีกับซีเรีย ตุรกีมีเรื่องอึดอัดคัดใจกับสหรัฐฯอยู่หลายอย่าง ล่าสุด 13 พฤศจิกายน 2565 มีการระเบิดบนถนนสายท่องเที่ยว สถานทูตสหรัฐฯส่งสารแสดง ความเสียใจ แต่ตุรกีไม่รับ เพราะเชื่อว่าสหรัฐฯหนุนกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด YPG ที่เข้ามาหย่อนระเบิดในครั้งนี้ YPG เป็นส่วนหนึ่งของพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน หรือ PKK ที่ปฏิบัติการสงครามกองโจรต่อต้านรัฐบาลตุรกีมายาวนานหลายสิบปี

ทั้งที่รัฐบาลสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำ YPG ว่าเป็นองค์กรการก่อการร้าย แต่ลับหลังสหรัฐฯกลับให้ความช่วยเหลือนักรบชาวเคิร์ด ซึ่งเป็นการทำลายความมั่นคงแห่งชาติของตุรกี

ท่ามกลางวิกฤติสงครามรัสเซีย–อูเครน สหรัฐฯสั่งให้ตุรกีคว่ำบาตรรัสเซีย ทั้งที่ตุรกีและรัสเซียมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน แต่ตุรกีก็ยอมทำตามคำสั่ง ด้วยการให้ธนาคารอิสแบงก์ และธนาคารเดนิชแบงก์ยกเลิกการใช้บัตรชำระเงินเมียร์ (Mir) ของรัสเซีย การยกเลิกครั้งนี้ทำให้นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่เข้าไปท่องเที่ยวอยู่ในตุรกีมีปัญหายุ่งยากมากมาย แถมกระทรวงการคลังสหรัฐฯยังส่งจดหมายไปถึงกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของตุรกี ว่าพวกท่านมีความเสี่ยงที่จะโดนลงโทษ หากยังคงมีความ สัมพันธ์เชิงพาณิชย์กับชาวรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตร

...

ตุรกียอมสหรัฐฯทั้งที่ตัวเองก็มีปัญหาเศรษฐกิจค่อนข้างมาก กันยายน 2022 ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของตุรกีพุ่งแตะร้อยละ 83.45 เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 24 ปี ตุรกีเร่งหาเงินจากการท่องเที่ยว แต่เมื่อมีระเบิดเกิดขึ้นกลางถนนท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ตุรกีก็แย่สิครับ นักท่องเที่ยวลด รายได้ของประเทศหด ที่น่าเจ็บใจก็คือ กลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ลงมือ ปฏิบัติการ ตุรกีเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่สหรัฐฯหนุนหลัง

เดิมเออร์โดกันไปขอความช่วยเหลือจากกูเลน กูเลนเป็นนักการศึกษาที่มีอิทธิพลสูงสุดของตุรกี แนวคิดการสร้างโรงเรียนของกูเลนพัฒนามาจากการศึกษาคำสอนของซาอิด นูรซี ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.1877-1960 นูรซีเป็นปราชญ์แนวสันติวิธีและมีเชื้อสายเคิร์ด มีความคิดคนละขั้วกับอตาเติร์ก (มุสตาฟา เคมาล) ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐตุรกี ที่สถาปนาขึ้นมาเมื่อ 29 ตุลาคม 1923 หลังจากที่อาณาจักรออตโตมันอันยิ่งใหญ่ล่มสลายลง

ตอนหลังกูเลนกับเออร์โดกันขัดแย้งกัน คนของกูเลนก็ทำปฏิวัติเมื่อ 15 กรกฎาคม 2016 ทว่าล้มเหลว สหรัฐฯกระโจนเข้าไปปกป้องกูเลนให้อยู่ในดินแดนสหรัฐฯ รวมทั้งออกวีซ่าให้บรรดาคนของกูเลนให้เดินทางเข้าไปอยู่ในสหรัฐฯ

โรงเรียนของกูเลนมีมากมายหลายพันแห่งทั่วโลก ในไทยก็เคยมีอยู่ 4 โรงเรียน องค์กรของกูเลนเคยเชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย บินไปดูโรงเรียนขององค์กรในเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม หลังจากนั้น ยังเตรียมเชิญให้ไปเยือนโรงเรียนในอีกหลายสิบประเทศ แต่การปฏิวัติเมื่อ ค.ศ.2016 ฝ่ายของกูเลนพ่ายแพ้ บัตรเชิญทั้งหลายจึงต้องถูกระงับไปโดยปริยาย

รัฐบาลตุรกีจับกุมคนของกูเลนหลายหมื่นคนทั่วโลก จับแล้ว ก็เอากลับไปประหารชีวิต เอาไปติดคุก ปัจจุบันคนเหล่านี้ที่เคยเชิญพวกเราไปดูงานการศึกษาในต่างประเทศ บางคนอยู่ในคุก หลายคนได้รับวีซ่าให้ไปใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ

สิ่งที่สหรัฐฯทำกับตุรกี เป็นเรื่องที่รัฐบาลตุรกีและประชาชนคนตุรกีต้องอดทนต่อการตีสองหน้าของสหรัฐฯมาโดยตลอด.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com