นับเป็นความเสียหายอันใหญ่หลวงภายในวันเดียว กองทัพอากาศรัสเซียสูญเสียเครื่องบินรบไปถึง 8 ลำ ในจำนวนนี้รวมถึงเครื่องบินรบอเนกประสงค์ซู-30 และเครื่องบินทิ้งระเบิดซู-24
โดยเป็นครั้งแรกที่คาบสมุทรไครเมียถูกโจมตีอย่างโจ่งแจ้งกลางวันแสกๆ ทั้งที่ดินแดนแห่งนี้ถูกรัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไปตั้งแต่ปี 2557 ขึ้นชื่อเรื่องระบบป้องกันภัยทางอากาศอันหนาแน่นและที่สำคัญอยู่หลังแนวรบเป็นระยะทางกว่า 225 กิโลเมตร
จนกลายเป็นคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบว่า การโจมตีสัปดาห์ก่อน เมื่อเวลา 15.20 น. วันที่ 9 ส.ค. เกิดขึ้นได้เช่นไร เนื่องจากกองทัพยูเครนไม่มีอาวุธที่ยิงได้ไกลขนาดนั้น ขณะที่ทางการยูเครนยอมรับเพียงว่าเป็นฝีมือของเรา แต่ต่อมาประธานาธิบดียูเครนก็มีคำสั่งทันทีว่า ห้ามให้ข่าวด้านปฏิบัติการทางทหารกับสื่อมวลชน
ทั้งนี้ ฐานทัพอากาศซากีตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลดำ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของไครเมีย เป็นฐานที่มั่นของฝูงบินจู่โจมที่ 43 สังกัดกองทัพเรือรัสเซีย มีเครื่องบินรบในสังกัดคือ เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ซู-30 จำนวน 12 ลำ เครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นเก่าซู-24จำนวน 6 ลำ ซู-24 รุ่นอัปเกรด 6 ลำ ซึ่งฝูงบินนี้ได้เผชิญหน้ากับฝูงบินรบจากค่ายองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) อยู่เป็นระยะตั้งแต่ช่วงก่อนสงคราม
นักวิเคราะห์ความมั่นคงระบุว่า กองทัพยูเครนได้รับมอบรถยิงจรวดเอ็ม 142 “ไฮมาร์ส” จากสหรัฐฯ 16 คัน รถยิงจรวดเอ็ม 270 “MLRS” จากอังกฤษ 3 คัน ถือเป็นอาวุธระยะไกลที่สุดเท่าที่ยูเครนมี แต่กระสุนที่สหรัฐฯส่งมอบให้เป็นรุ่นมาตรการ มีระยะยิงเพียง 70 กิโลเมตร ปืนใหญ่เอ็ม 777 จากสหรัฐฯ ก็มีระยะเพียง 38 กิโลเมตร
หากยูเครนนำจรวดต่อต้านเรือรบรุ่น “ฮาร์พูน” ของตะวันตกมาใช้ในกรณีนี้ ก็เค้นระยะทำการได้มากสุด 107 กิโลเมตร แต่ดูจากแนวรบตอนนี้ก็ไม่มีจุดใดที่เข้าในระยะยิง ส่วนขีปนาวุธทอชกา-ยู ยุคสหภาพโซเวียตที่ยูเครนครอบครองอยู่ก็มีระยะทำการไกลสุด 120 กิโลเมตร
ดังนั้น สิ่งที่พอเป็นไปได้คือ เป็นปฏิบัติการ “ใต้ดิน” หลังแนวรบ การจารกรรมลอบวางระเบิด หรือการลักลอบขนจรวดเข้าไปในดินแดนรัสเซียแล้วยิง ขณะที่สื่อความมั่นคงรัสเซียมองแย่กว่านั้นว่า ยูเครนอาจได้รับมอบกระสุนจรวด ATACMS พิสัย 300 กิโลเมตร สำหรับรถยิงจรวดไฮมาร์สมาจากสหรัฐฯแล้วก็เป็นได้!?
...
ตุ๊ ปากเกร็ด