จริงอยู่ที่สถานการณ์ไวรัสมรณะโควิด-19 ในช่วงนี้ แตกต่างไปจากช่วงการระบาด 2 ปีที่ผ่านมา การที่คนได้รับ “วัคซีน” มากขึ้น (บ้างก็ฉีดไป 5-6 เข็มแล้ว) ประกอบกับคุณสมบัติของตัวกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่ต่างจากตัวก่อนๆ ได้ส่งผลให้ภาพรวมมีความ “อันตราย” น้อยลง
หลังจากทนกันมา 2 ปี ความหวังก็ปรากฏขึ้นมาว่า อาจจะอยู่ร่วมกับไวรัสได้แล้ว โควิดจะไม่ต่างอะไรกับไข้หวัดใหญ่ทั่วไป อย่างไรก็ตาม มันจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ โดยทีมวิจัยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ มีการประเมินว่า ทิศทางที่คิดว่าดีในตอนนี้ อาจไม่ยั่งยืนรึเปล่า?
เพราะโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นอย่างที่เคยคิดกันไว้ หมายความว่าเชื้อจะต้องระบาดกันเป็นฤดูๆเหมือนกับหวัด แต่กรณีเชื้อโอมิครอน สายย่อย BA.5 ที่กำลังลุกลามไปทั่วโลกในขณะนี้ มีระยะการกลับมา “ติดเชื้อซ้ำ” ที่สั้น ติดเชื้อ-หายดี-ปลอดเชื้อแล้ว ก็กลับมาติดเชื้อรอบใหม่ได้ ภายใน (เฉลี่ย) 28 วัน ต่างกับสายพันธุ์ในช่วงแรกที่ผู้ติดเชื้อจะมีเกราะป้องกันการติดเชื้อซ้ำนานกว่า 3 เดือน
สิ่งที่จะตามมาจากระยะการติดเชื้อซ้ำที่สั้นมากคือวงจรการระบาดระลอกใหม่มาเร็วเกินไป ที่คิดไว้ปีละครั้งสองครั้ง อาจกลายเป็น 2-3 เดือนครั้งหรือสั้นลงกว่านั้น และแม้เชื้อโอมิครอนตัวใหม่จะมีโอกาสการเสียชีวิตต่ำ แต่จะสร้างความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ต้องกักตัว หยุดงาน หยุดเรียน หรือนอนโรงพยาบาล
ที่อังกฤษก็มีรายงานว่า นักเรียนอดไปโรงเรียนถึง 1 ใน 5 บุคลากรการแพทย์ต้องหยุดงาน ซึ่งกรณีนี้ย่อมหมายความว่าคนที่ยังทำงานอยู่ก็จะต้องรับโหลดเพิ่มขึ้น จนอาจถึงขั้น “โอเวอร์โหลด” เพราะอย่าลืมว่าถึงเชื้ออันตรายน้อยลง แต่เมื่อระบาดเป็นวงกว้าง สัดส่วนคนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
...
ล่าสุดกรณีนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯก็ค่อนข้างเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ต้องกักตัวเปลี่ยนตารางงาน สื่อสารทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว ที่สำคัญหลังติดเชื้ออยู่ 5 วัน (21-25 ก.ค.) และปลอดเชื้อกลับมาทำงานได้ตามปกติ 4 วัน เชื้อก็กลับมาโผล่อีก ต้องกักตัวกันรอบใหม่ เปลี่ยนตารางใหม่ วุ่นวายกันไปหมด
ตอนนี้โอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตลดลงแล้ว (ยังตายได้อยู่ดี) แต่สุดท้ายก็ต้องป้องกันอย่างรัดกุมกันต่อไป เพราะความวุ่นวาย “Disruption” ที่ตามมา เรียกได้ว่าปวดหัวชะมัดยาดเลยแหละครับ.
ตุ๊ ปากเกร็ด