สงครามเป็นตัวการขับเคลื่อนให้เกิดเทคโนโลยีทางทหารใหม่ๆ เนื่องด้วยความกังวลว่าหากวันหนึ่งข้าศึกบุกประชิดกำแพงเมืองแล้ว จะมีอะไรไว้ต่อกรหรือไม่

สงครามยูเครน-รัสเซียครั้งนี้ก็เช่นกัน เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทกลาโหมอันเก่าแก่ของเยอรมนี “ไรน์เมทัล” ได้เปิดตัวรถถังประจัญบานรุ่นใหม่ รหัสเคเอฟ-51 ฉายาเสือดำ “แพนเธอร์” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับรถถังที่ดีที่สุดของกองทัพเยอรมนีในสงครามโลก ครั้งที่ 2

จากข้อมูลเบื้องต้น แพนเธอร์ถูกออกแบบให้มีความคล่องตัวสูง เมื่อเทียบกับรถถังหลักที่ใช้งานอยู่อย่างเสือดาว “เลียวปาร์ด 2” น้ำหนักจะลดจาก 70 ตัน เหลือ 59 ตัน แต่กำลังเครื่องยนต์เท่าเดิม ระยะวิ่งสูงสุด 500 กิโลเมตร พร้อมปืนรุ่นใหม่ที่อัปขนาดลำกล้องจาก 120 มม. เป็น 130 มม. เพื่อเพิ่มอำนาจการยิง (และเหนือกว่าค่ายรัสเซีย 125 มม.) ปืนเป็นระบบโหลดกระสุนอัตโนมัติไม่ต้องใช้คน และพร้อมยิงต่อเนื่องทันที 20 นัด

สำหรับการปฏิบัติการ จะใช้พลประจำการเพียง 3 นาย คือพลขับ 1 นายอยู่ในตัวถัง กับอีก 2 นายคือผู้บัญชาการกับพลยิงอยู่ในป้อมปืน ห้องตัวถังกับห้องป้อมปืนจะแยกส่วนกัน แต่ สามารถโอนถ่ายระบบการทำงานให้กันได้หากมีใครเป็นอะไรขึ้นมา นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่เหลือไว้สำหรับ “ผู้ชำนาญการ” คนที่ 4 ทำหน้าที่ ควบคุมโดรนสอดแนม หรือโดรนสังหารจัดการกับเป้าหมายนอกสายตา

ไรน์เมทัลยังชี้แจงด้วยว่า สงครามที่กำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด ได้แสดงให้เห็นถึงจุดบอดของรถถังเมื่อเผชิญการลอบโจมตีจากอาวุธต่อต้าน ดังนั้น การออกแบบแพนเธอร์จึงคำนึงถึงวิธีรับมือ ไม่ว่าระบบเกราะที่สามารถต้านทานจรวดที่จะโจมตี จากมุมสูง (เช่นจาวาลิน) หรือระบบแชร์การรับรู้ แจ้งเตือนให้พลประจำรถ และรถคันอื่นๆ รับรู้ว่าข้าศึกโจมตีมาจากทิศใดตำแหน่งใด ซึ่งในอนาคต จะนำระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอมาติดตั้งด้วย

...

แม้ยังไม่แน่ชัดว่าจะผลิตเพื่อจำหน่ายอย่างเป็นทางการเมื่อใด แต่ไรน์เมทัลมั่นใจว่าแพนเธอร์จะเป็นรถถัง “เน็กซ์-เจเนอเรชัน” ยุคต่อไป ที่มี “อำนาจสังหาร” สูงสุดในสนามรบ.

ตุ๊ ปากเกร็ด