รัฐบาลยูเครนและนานาชาติแสดงความกังวลถึงชะตากรรมของนักรบยูเครนกว่า 260 คน ในโรงงานเหล็กอาซอฟสตาล เมืองมาริอูโปล ที่ยอมจำนนวางอาวุธหลังต่อสู้ในวงล้อมมายาวนานกว่า 2เดือน และได้รับการอพยพออกจากพื้นที่ไปอยู่ในความควบคุมดูแลของกองทัพรัสเซีย เมื่อ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลรัสเซียยังไม่ตอบรับตามที่ยูเครนกล่าวอ้างว่าทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแลกเปลี่ยนเชลยศึก
ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ว่า จากกรณีที่กองทัพยูเครนสั่งจบภารกิจการป้องกันโรงงานเหล็กอาซอฟสตาลเพื่อรักษาชีวิตหน่วยรบ โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำว่ายอมจำนนนั้น ผลปรากฏว่ายังมีนักรบบางส่วนยังคงปักหลักต่อสู้อยู่ภายในโรงงาน ซึ่งกองทัพยูเครนทราบว่ามีจำนวนเท่าใด แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวเลข ระบุเพียงว่ากำลังพยายามทำสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ในการช่วยเหลือกลุ่มนักรบที่เหลืออยู่ในโรงงานเหล็กอาซอฟสตาล
อย่างไรก็ตาม จากการที่ยูเครนระบุว่าฝ่ายยูเครนและรัสเซียตกลงว่าจะแลกตัวหน่วยรบยูเครนกับเชลยศึกรัสเซีย ทางการรัสเซียยังไม่ยืนยันแต่อย่างใด ขณะที่สมาชิกสภารัสเซียบางส่วนระบุว่าสมาชิกหน่วยรบดังกล่าวที่อยู่ใต้สายบัญชาการของกองพันอาซอฟ ซึ่งรัสเซียตีตราว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายและสนับสนุนนาซีสมควรถูกดำเนินคดี หรือถึงขั้นตัดสินประหารชีวิตหรือไม่ เนื่องจากบางส่วนมีประวัติการก่ออาชญากรรมต่อพลเรือนในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ส่วนกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ชี้แจงเพียงว่านับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. หน่วยรบในโรงงานอาซอฟสตาล ยอมจำนนแล้ว 959 คน และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล
วันเดียวกัน ตัวแทนรัฐบาลฟินแลนด์และสวีเดนยื่นเอกสารขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) อย่างเป็นทางการ โดยนายเยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต กล่าวว่า ถือเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่เราต้องคว้าไว้ นาโตขอรับคำร้องขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วยความยินดี ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศระบุด้วยว่า ถือเป็นการเปลี่ยนจุดยืนด้านความมั่นคงครั้งใหญ่ หลังฟินแลนด์และสวีเดนมีจุดยืนเป็นกลางมาตลอดยุคสงครามเย็น แต่ทั้งนี้กระบวนการรับรองจากชาติสมาชิก30ประเทศ อาจใช้เวลาเป็นปี ยิ่งเฉพาะการรับรองจากตุรกี ที่ก่อนหน้านี้ประกาศไม่เห็นด้วยที่นาโตจะรับฟินแลนด์และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิก โดยให้เหตุผลว่าสนับสนุนกลุ่มการเมืองชาวเคิร์ดพีเคเคที่ตุรกีตีตราว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย.
...