สมาคมศิลปะแห่งญี่ปุ่นประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัล Praemium Imperiale ครั้งที่ 32 ประจำปีนี้ เมื่อ 14 ก.ย. หลังจากต้องยกเลิกเมื่อปีก่อนเพราะโควิด-19 รางวัลด้านศิลปะที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในโลกรางวัลนี้ ได้ชื่อว่าเป็นโนเบลแห่งวงการศิลปะ ก่อตั้งในปี 2531 เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของสมาคมศิลปะญี่ปุ่น มอบรางวัลยกย่องเชิดชูบุคคลหรือกลุ่มคนจากทั่วโลกสำหรับผลงานโดดเด่นด้านใน 5 สาขา รวมถึงบทบาทในการส่งเสริมวัฒนธรรมและศิลปะของโลก

เซบาสเตียน ซัลการ์โด สุดยอดช่างภาพชาวบราซิล อดีตผู้ลี้ภัยทางการเมือง วัย 77 ปี ได้รับรางวัลด้านจิตรกรรม-ภาพพิมพ์ซัลการ์โดมักนำเสนอชีวิตผู้คนที่ยากไร้บนภาพขาวดำอันทรงพลัง ซึ่งสามารถพบเห็นผลงานปรากฏในหนังสือและนิทรรศการทั่วโลก เขาได้รับรางวัลมากมายตลอดอาชีพ และมีบทบาทแข็งขันกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการปลูกป่าผ่านองค์กร Instituto Terra ที่ก่อตั้งร่วมกับภรรยาในบราซิล ผลงานล่าสุดคือหนังสือภาพ และนิทรรศการ Amazônia ที่ใช้เวลา 7 ปีสำรวจระบบนิเวศของป่าแอมะซอนและวิถีชีวิตของชาวพื้นเมือง

รางวัลด้านสถาปัตยกรรมตกเป็นของเกล็นน์ เมอร์คัตต์ “สถาปนิกล้ำยุค” ชาวออสเตรเลีย ที่ออกแบบอาคารอย่างเรียบง่ายสอดคล้องกับธรรมชาติ ผลงานของเมอร์คัตต์ถูกยกย่องว่าสว่างไสวและงดงามดั่งบทกวี ขณะที่ศิลปินร่วมสมัยชาวอเมริกัน “เจมส์ เทอร์เรลล์” หรือ “พ่อมดแห่งแสง” วัย 78 ปี ได้รับรางวัลด้านประติมากรรม ผลงานของเขาผสมผสานศิลปะและวิทยาศาสตร์ เชิญชวนให้สำรวจและไตร่ตรองความสัมพันธ์ระหว่างแสงและการรับรู้ได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งเทอร์เรลล์เชื่อว่า แสงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงชีวิตภายในของเรากับโลกภายนอก

ส่วนผู้ได้รับรางวัลด้านดนตรี คือ โยโย มา นักเชลโลชื่อก้องโลกชาวอเมริกันเชื้อสายจีน วัย 65 ปี ผู้ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุค เจ้าของรางวัลแกรมมี่ 18 รางวัล ยืนหยัดในวงการดนตรีคลาสสิกกว่า 5 ทศวรรษ ยังเป็นผู้สนับสนุนการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมดนตรีกับทั้งนักดนตรีและผู้ฟังทั่วโลกอยู่เสมอ โย-โย มา เป็นข่าวดังในเดือน มี.ค.จากการแสดงเพลง “Ave Maria” อย่างกะทันหันให้กับผู้ที่รอรับวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนในแมสซาชูเสตต์ในการรับวัคซีนโดสที่ 2 เพื่อเป็นการให้ความหวังและเป็นกำลังใจให้ทุกคนในยามวิกฤติ

...

น่าเสียดายที่ปีนี้ไม่มีการมอบรางวัลในหมวดละคร/ภาพยนตร์ เนื่องจากการระบาดที่ทำให้โลกต้องโกลาหลวุ่นวายอย่างหนักหน่วง และวิกฤติโควิดยิ่งทำให้เห็นว่าศิลปะนั้นสำคัญต่อมนุษย์กว่าที่เคย เพราะเป็นเครื่องช่วยปลอบประโลมจิตใจให้ทุกคนก้าวผ่านความยากลำบากไปด้วยกัน.

อมรดา พงศ์อุทัย