ค้างคาวมีความสามารถที่แปลกประหลาด โดยเฉพาะการนำทางในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ซับซ้อน พวกมันอาศัยคลื่นอัลตราซาวด์ ซึ่งเป็นคลื่นเสียงความถี่สูงที่มากกว่า 20,000 เฮิรตซ์ นักวิจัยจึงสงสัยว่าความเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติของหูค้างคาวอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้

การทำงานที่น่าประหลาดเกี่ยวกับหูของค้างคาว กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทีมวิจัยนำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกลจากสถาบันโพลีเทคนิคและมหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนีย หรือเวอร์จิเนีย เทค ในสหรัฐอเมริกานำไปใช้ออกแบบเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาแนวทางใหม่ในการระบุตำแหน่งเสียงที่เรียบง่ายและแม่นยำกว่าวิธีการที่ใช้กันก่อนหน้านี้ นักวิจัยเผยว่าค้างคาวบินนำทางโดยใช้เสียงสะท้อนเพื่อรับรู้สภาพแวดล้อมรอบตัว (Echolocation) โดยคลื่นอัลตราโซนิกจะถูกปล่อยออกมาจากปากหรือจมูกของค้างคาว จากนั้นก็ตีกลับจากองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมและกลับมาเป็นเสียงสะท้อน ทำให้กำหนดได้ว่าวัตถุอยู่ใกล้แค่ไหน

ทีมได้สร้างหูสังเคราะห์แบบนุ่ม โดยใช้แรงบันดาลใจจากค้างคาวเกือกม้าและวงศ์ค้างคาวหน้ายักษ์ หูสังเคราะห์ผูกติดกับเชือกและมอเตอร์ธรรมดาที่จะทำให้หูกระพือเมื่อได้รับเสียง ซึ่งในการทดสอบระบบของหูและแมชชีน เลิร์นนิง ทีมติดตั้งหูไว้บนอุปกรณ์เปล่งแสงเลเซอร์หมุนได้เสียงจะถูกปล่อยออกมาจากลำโพงที่วางไว้ในทิศทางที่ต่างกันโดยสัมพันธ์กับหู พบว่าผลลัพธ์ของเทคโนโลยีที่พัฒนาใหม่นี้เหนือกว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง แถมใช้ความพยายามน้อยกว่ามาก ทีมคาดหวังว่าจะนำไปใช้กับสภาพแวดล้อมกลางแจ้งที่ซับซ้อน เป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวังความปลอดภัยทางการเกษตรและการป่าไม้ได้ในอนาคต.

ภาพ Credit : Virginia Tech