นอกจากความหนาวเย็นแบบปราบเซียนแล้ว ไซบีเรียถือเป็นหนึ่งในดินแดนที่มักจะค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลสิ่งมีชีวิตที่สำคัญต่อการวิจัยค้นคว้าถึงประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคของโลก ล่าสุด สื่อหลายสำนักในรัสเซียก็รายงานการค้นพบแรดขนยาวยุคน้ำแข็ง ซึ่งถูกธรรมชาติอนุรักษ์ซากไว้อย่างดีเยี่ยม อวัยวะภายในจำนวนมากยังคงสภาพสมบูรณ์

ซากแรดขนยาวยุคโบราณปรากฏให้เห็น จากการละลายของน้ำแข็งในภูมิภาคยาคูเตีย (Yakutia) แห่งรัสเซียเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา นักบรรพชีวินวิทยาจากราชบัณฑิตวิทยสถานแห่งรัสเซีย (Russian Academy of Sciences) เผยว่าซากแรดขนยาวตัวนี้มีเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงสภาพสมบูรณ์ เช่น บางส่วนของลำไส้ มีขนหนา มีก้อนไขมันมีนอ โดยประมาณการว่ามันน่าจะมีอายุ 3 หรือ 4 ปีขณะที่ตายลง
นักบรรพชีวินวิทยาประเมินอายุซากแรดขนยาวดังกล่าว เบื้องต้นคือระหว่าง 20,000-50,000 ปี แต่ก็ต้องรอนำส่งไปศึกษาในห้องทดลองในเดือนหน้า เพราะอุปสรรคตอนนี้คือถนนในภูมิภาคอาร์กติก กลายเป็นน้ำแข็ง ทั้งนี้ เชื่อว่าในอนาคตคงมีการค้นพบซากสัตว์โบราณมากขึ้น เพราะน้ำแข็งค่อยๆ ละลายไปทั่วพื้นที่กว้างใหญ่ของไซบีเรีย อันเนื่องจากภาวะโลกร้อน.