วันที่สองในบังกลาเทศ เราออกเดินทางจาก หมู่บ้าน bishnupur Tangail เพื่อไปยัง เมืองพคุฑา หรือ เมืองโบกรา (Bogra) ซึ่งเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเบงกอลตะวันตกในอดีตเมืองนี้เคยเป็นอาณานิคมภายใต้การปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินเดีย จุดหมายปลายทางแห่งแรกของเรา คือ มหาสถาน (Mahastan) หรือ มหาสธานคร (Mahasthangarh) แหล่งโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองโบกรา ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของบังกลาเทศ

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เชื่อว่าที่นี่คือเมืองหลวงของ อาณาจักรปุนตรา (Puntra Kingdom) ซึ่งเคยรุ่งเรืองในสมัยเบงกอลโบราณ ราวปีคริสต์ศักราช 700 ภายในมหาสถานมีกำแพง ป้อมปราการภายใต้ขอบเขตพื้นที่อันกว้างใหญ่ แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ในสมัยนั้น ส่วน ปุนตรานครา คือเมืองหลวงของอาณาจักร ล้อมรอบไปด้วยกำแพงยาวสุดลูกหูลูกตา เคยถูกปล่อยให้รกร้างอยู่นานหลายปี ก่อนจะถูกค้นพบอย่างเป็นทางการ โดยมีการขุดพบซากกำแพงของวัดสถูป มัสยิด และหลุมศพอีกหลายจุด เป็นหลักฐานที่แสดงถึงการเคยมีอยู่ของ 3 ศาสนา ในแผ่นดินเดียวกัน คือ พราหมณ์ พุทธ และอิสลาม รวมถึงการผลัดเปลี่ยนของราชวงศ์ต่างๆในอาณาจักรเบงกอล

...

จากการขุดค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุจำนวนมาก ทำให้เชื่อได้ว่า เมืองแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 3 ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 210,000 ตารางเมตร ปัจจุบันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามในเมืองโบกรา

หลังรับประทานอาหารกลางวันในแบบฉบับของชาวเบงกาลี พวกเราเดินทางต่อไปยัง พาหรปุระ (Paharpur) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองโบกราราว 56 กิโลเมตร แต่ก็ต้องใช้เวลาเดินทางนานเกือบ 2 ชั่วโมง จุดหมายของเราอยู่ที่ โสมาปุระมหาวิหาร (Somapura Mahavihara) พุทธสถานที่มีขนาดใหญ่ มีการขุดพบซากกำแพงและกุฏิพระสงฆ์มากกว่า 177 แห่งในเขตของมหาวิหาร ส่วนโครงสร้างของอาคารมหาวิหารนั้นก็ดูแปลกตา โดยสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความสลับซับซ้อน องค์พุทธเจดีย์แบบดั้งเดิมประดิษฐานอยู่ตรงกลางของวิหาร เป็นพุทธศาสนสถานที่ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี ค.ศ.1985

โสมาปุระมหาวิหาร มีลักษณะคล้ายๆกับมหาวิทยาลัยนาลันทา ในอินเดีย เคยเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ของพระภิกษุ เป็นโรงเรียนของพระสงฆ์ที่เคยให้การศึกษาแก่พระภิกษุ สามเณรเป็นจำนวนมาก นักโบราณคดียกย่องให้มหาวิหารแห่งนี้เป็นหนึ่งในสุดยอดสถาปัตยกรรมของโลก ที่สามารถสร้างอาคารที่มีรูปทรงเรียบง่ายแต่สามารถใช้ประโยชน์ทางศาสนาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

คืนนี้เราพักค้างแรมกันที่ เมืองนโอคาม ใน เขตราชชาฮี (Rajshahi) เพื่อที่จะตื่นแต่เช้าเพื่อไปชมนครสุเหร่าแห่งบาเกอฮัท (The mosque city of Bagerhat) สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลาม โดยสภาพทางภูมิศาสตร์ของเมืองแล้ว ไม่มีอะไรที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติหรือเศรษฐกิจ บาเกอฮัทจึงเป็นเพียงแค่ทางผ่านของการสัญจรไปมาเท่านั้นแต่เนื่องจากนครสุเหร่าโบราณ แห่งนี้ เป็นที่ฝังศพของท่าน Khan-e-Jahan นักบุญทางศาสนาอิสลามที่มีชื่อเสียง ผู้ที่สร้างเมืองบาเกอฮัทที่ต่อมาองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนให้นครสุเหร่าแห่งบาเกอฮัท เป็นมรดกโลก ในฐานะที่มีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรม...นั่นละ ผู้คนจากทั่วโลกจึงหลั่งไหลมาที่นี่ เพื่อชื่นชมความงดงามและความยิ่งใหญ่แห่งอดีตที่ควรค่าแก่การจดจำรำลึก

...

ภายในพื้นที่ของนครสุเหร่าโบราณแห่งนี้มีการค้นพบอนุสรณ์สถานของศาสนาอิสลามมากกว่า 50 แห่ง แต่ที่โดดเด่นที่สุด คือ สุเหร่า ชัท กัมบัด (Shat Gambud Mosque) หรือสุเหร่า 60 เสา 77 โดม ที่นอกจากจะหน้าตาไม่เหมือนสุเหร่าทั่วไปแล้ว บางคนวิจารณ์ว่า นี่คือจุดเริ่มของความคิดที่แปลกแตกต่างของชาวมุสลิมในยุคนั้นด้วย

นอกจากสุเหร่าของอิสลามแล้ว ใน เขตราชชาฮี ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกแห่ง คือ วิหารปูเทีย (Puthia Temple Complex) ซึ่งภายในบริเวณวิหารประกอบไปด้วยวัดฮินดู 3 แห่ง คือ วัดปราณชรัตนะ โกบินดา สร้างขึ้นในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยราชินีแห่งปูเทีย เนื่องจากราชวงศ์ที่ปกครองเมืองปูเทียได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาฮินดู นิกายไวษณพ จึงได้สร้างวัดฮินดูนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่บูชา สักการะ องค์มหาเทพกฤษณะ ภายในวัดประดับตกแต่งด้วยดินเผาและภาพวาดเรื่องราวขององค์มหาเทพกฤษณะ

วัดภุบเนศวร ศิวะ (Bhubaneshwar Shiva Temple) สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่บูชาสักการะองค์มหาเทพศิวะ เป็นวัดฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในบังกลาเทศ ก่อสร้างโดยสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างอินเดียและเบงกอล ภายในวัดประดับตกแต่งด้วยงานแกะสลักหินและผลงานประติมากรรมล้ำค่า โดยเฉพาะศิวลึงค์ที่ทำมาจากหินภูเขาไฟสีดำ และ วัดชคันนาถ (Jagannath Temple) สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่บูชาสักการะองค์เทพชคันนาถ (ปางอวตารขององค์มหาเทพกฤษณะ) ก่อสร้างโดยสถาปัตยกรรมแบบเบงกอล

...

และสุดท้ายคือการเที่ยวชม พระราชวังปูเทีย (Puthia Rajbari Palace) ที่ประทับของมหารานีเฮเมนต้ากุมารี ก่อสร้างโดยใช้สถาปัตยกรรมแบบอินโดในยุคฟื้นฟูศิลปะ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการซ่อมแซมบูรณะ เนื่องจากทรุดโทรมไปเป็นอันมาก

และก่อนที่จะไปสัมผัสกับป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดในโลกในซุนดาบันส์ เราแวะทักทาย ท่านมหาตมะ ลาลอน นักปรัชญาชาวเบงกาลี ผู้เป็นแรงบันดาลใจคนหนึ่งของรพินทรนาถ ฐากูร ที่หลุมศพของท่านในเมือง Cheuriya, Kushtia สัมผัสปรัชญาชีวิตผ่านบทเพลงที่สาวกของท่านเป็นผู้ขับร้อง...

...

และนั่นทำให้เราค้นพบว่า มนุษย์ไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยการที่ให้ใครสักคนมารัก หรือรักใครสักคน แต่มนุษย์ควรอยู่กับใครสักคนโดยปราศจากความกลัว...นั่นต่างหากคือการมีชีวิตอันอุดม...!!