ดร.มีชัย ออสุวรรณ เรียนปริญญาในรัฐฮาวายถึง 4 ใบ จบปริญญาโทด้านการเงินและการตลาด ปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ทุนมนุษย์ ปริญญาโทบริหารการศึกษา และจบปริญญาเอกด้านการศึกษา เมื่ออายุ 32 ปี โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่องพหุวัฒนธรรมและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของชนกลุ่มน้อยในรัฐฮาวาย
ดร.มีชัยเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลมิชิแกนอยู่หลายปี ก่อนที่จะได้รับชวนมาสอนหนังสือที่สถาบันการศึกษาแห่งชาติ National Institute of Education (NIE) ซึ่งเป็นสถาบันผลิตครูเพียงแห่งเดียวของสาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นสถาบันของมหาวิทยาลัยนันยางเทคโนโลจิคอล โดยสอนและทำวิจัยเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน นักศึกษามีทั้งชาวจีน มาเลย์ อินเดีย มีความหลากหลายทางศาสนาทั้งศาสนาพุทธ อิสลาม ฮินดู คริสต์ และลัทธิเต๋า พ.ศ.2553 ได้รับเชิญเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนียทำวิจัยด้านพหุวัฒนธรรมกับผลการเรียนรู้ของเด็กด้อยโอกาสทางสังคม
พ.ศ.2560 ดร.มีชัยเข้าทำงานที่ ESCAP สหประชาชาติ ด้านสิทธิมนุษยชน การตั้งถิ่นฐานใหม่ของผู้ลี้ภัยและการอพยพย้ายถิ่น ระหว่างนั้นก็ได้รับการติดต่อจากทางสิงคโปร์ขอให้เป็นผู้แทนประเทศของสถาบัน DQ หรือ Digital Intelligence Quotient (DQTM) ซึ่งสำนักงานใหญ่อยู่ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม World Economic Forum เรื่องพลเมืองดิจิทัลและพฤติกรรมเสี่ยงบนโลกออนไลน์ของเด็กและเยาวชน และการพัฒนาทุนมนุษย์สู่ความเป็นอัจฉริยะทางดิจิทัล
ดร.มีชัยเป็นสมาชิกไลน์แอท @ntp5 ที่แอ็กทีฟมาก ส่งข้อมูลด้านทักษะความฉลาดทางดิจิทัล (DQ) และแนะนำให้พวกผมซึ่งเป็นผู้บริหารไลน์สนใจการนำ DQ เข้ามาสอนเด็กและเยาวชนในประเทศไทย โดย ดร.มีชัยริเริ่มโครงการ DQ for Thailand ที่ใช้สโลแกนว่า เด็กไทยยุคดิจิทัลมี IQ และ EQ สูงยังไม่พอ จำเป็นต้องมี DQ ที่สูงด้วย
...
มีการเก็บข้อมูลจากเด็กและเยาวชนอายุ 8-12 ปี กว่า 6 แสนคน ใน 30 ประเทศ พบว่าเยาวชนโอมานมีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามในโลกออนไลน์ที่สูงที่สุดในโลก คือเสี่ยงถึงร้อยละ 70 เยาวชนไทยก็มีความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมากคือ ร้อยละ 60 ส่วนเยาวชนญี่ปุ่นมีความเสี่ยงต่ำที่สุดในโลกคือ ร้อยละ 16
ปัจจุบัน ดร.มีชัยอายุ 43 ปี แต่มีลูกศิษย์ชาวอเมริกันและชาวสิงคโปร์ที่เป็นครูอาจารย์จำนวนไม่น้อย เป็นระดับผู้อำนวยการโรงเรียนแล้วก็มี ผมถาม ดร.มีชัยว่า อะไรเป็นแรงจูงใจที่กระตุ้นให้เด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลายหัวกะทิของสิงคโปร์เข้าเรียนต่อเพื่อเตรียมตัวเป็นครู ดร.มีชัยบอกว่า นักศึกษาครูจะได้รับเงินเดือนและนับอายุราชการทันทีเมื่อเข้าเรียน วันแรกในชั้นปีที่ 1 โดยมีเงินเดือนเบื้องต้นประมาณ 6 หมื่นบาท
จบปริญญาตรีแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังให้ครูกลับมาฝึกฝนการเรียนการสอนแบบใหม่ทุก 2 ปีที่สถาบันการศึกษาแห่งชาติที่ ดร.มีชัยสอนอยู่ ครูสิงคโปร์ไม่ใช่สอนหนังสือ แต่ทำหน้าที่เสมือนโค้ช หรือเป็นผู้อำนวยการเรียนการสอนให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ได้ด้วยตัวเอง มีวิจารณญาณค้นหาข้อมูลจากแหล่งที่ถูกต้องเหมาะสม
เด็กสิงคโปร์ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกในการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และได้คะแนนเป็นอันดับต้นของการสอบวัดผลพิซา (PISA) ใน 75 ประเทศที่จัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเพื่อประเมินผลการเรียนด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน
พวกฝรั่งมังค่าทั้งหลายสนใจว่าอะไรเป็นตัวขับเคลื่อนที่ทำให้สิงคโปร์มีการศึกษาดีติดอันดับโลก และต้องการรู้ว่าอะไรทำให้พนักงานภาครัฐของสิงคโปร์ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ สกอตแลนด์ วิจัยพบว่าหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่ทำให้สิงคโปร์อยู่ในอันดับต้นของโลกแทบทุกด้านคือ ครูมีคุณภาพสูงมาก
เงินเดือนของบุคลากรในระบบการศึกษาของสิงคโปร์เท่ากับบุคลากรในภาคการเงินและอุตสาหกรรม เงินเดือนเริ่มต้นโดยเฉลี่ยของครูสิงคโปร์อยู่ที่ 1,600-3,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 52,000-113,000 บาท ไม่รวมค่าล่วงเวลาและโบนัสตามผลงาน
เรื่องการศึกษาของสิงคโปร์ยังมีเรื่องน่าสนใจอีกเยอะครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com