เมื่อไม่นานมานี้ มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล (fossil) ของสัตว์สะเทินน้ำเทินบก 2 ชนิดที่เคยอาศัยอยู่ภายในพื้นที่แอนตาร์กติกเซอร์เคิลทางขั้วโลกใต้ เมื่อ 360 ล้านปีก่อน ทั้งคู่จัดอยู่ในสัตว์จำพวกเตตราพอดส์ (tetrapods) เป็นกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีแขนขางอกออกมาและวิวัฒนาการจากน้ำมาอยู่บนบก ก่อนที่จะค่อยๆ วิวัฒนาการกลายมาเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังหลายชนิดในเวลาต่อมา ซึ่งรวมถึงมนุษย์อย่างเราๆด้วย

เตตราพอดส์ทั้ง 2 ชนิดได้รับการตั้งชื่อว่า Tutusius umlambo และ Umzantsia amazana เพื่อเป็นเกียรติแก่นักการศาสนาและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวแอฟริกันชื่อเดสมอนด์ ตูตู ที่ค้นพบซากดังกล่าวในเขตวอเตอร์ลู ฟาร์ม ใกล้เมืองเกรแฮมส์ทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่ง Umzantsia มีความยาวราว 70 เซนติเมตร มีขากรรไกรล่างยาวเรียว ฟันแหลมเล็ก ส่วน Tutusius มีเพียงกระดูกไหล่ด้านเดียวขนาดเกือบ 1 เมตร การค้นพบนี้ทำให้นักบรรพชีวินวิทยาแห่งพิพิธภัณฑ์อัลบานีในเมืองเกรแฮมส์ทาวน์ ต้องกลับมาทบทวนถึงต้นกำเนิดของสัตว์มีกระดูกสันหลังบนบกครั้งใหม่ เพราะก่อนหน้านี้มีข้อสันนิษฐานว่าเตตราพอดส์เกิดขึ้นในมหาทวีปลอเรเชีย (Laurasia) ซึ่งต่อมากลายมาเป็นทวีปอเมริกาเหนือและยูเรเชีย และสัตว์เหล่านี้วิวัฒนาการมาจากปลาในยุคดีโวเนียน ซึ่งเป็นยุคแรกที่สิ่งมีชีวิตบนบกและพืชบกเริ่มกระจายเข้าสู่แผ่นดินใหญ่

...

นักบรรพชีวินวิทยาเผยว่าเตตราพอดส์ที่มีชีวิตปลายยุคดีโวเนียนนั้นอาศัยอยู่ทั่วโลกจากเขตร้อนไปยังแอนตาร์กติกา จึงเป็นไปได้ว่าพวกมันสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมและจะย้ายไปอยู่ที่ใดก็ได้.