อัยการสูงสุด แจงคดีลันลาเบล จะให้ความเป็นธรรม ยึดตามพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน และผู้เชี่ยวชาญที่ชันสูตร โดยชัดว่าถูกประทุษร้ายจนเสียชีวิต อีกทั้งบิดายังฟ้องแพ่งร้องค่าสินไหมจากผู้ต้องหาได้

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.62 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ตามที่บิดาของ น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือ ลันลาเบล ได้มาพบ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการคดีอาญาธนบุรี และ นายเทอดศักดิ์ พาหุสัจจะลักษณ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 2 เพื่อขอความเป็นธรรมและขอเสนอข้อมูล อันเป็นประโยชน์แก่คดี พร้อมกับพอใจในความคืบหน้าในการสอบสวนนั้น ทางสำนักงานอัยการสูงสุดพร้อมให้ความช่วยเหลือและพร้อมรับข้อมูลทุกอย่าง ที่ผู้เสียหายคาดว่าจะเป็นประโยขน์แก่คดีนำมาประกอบการพิจารณาสั่งคดี

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวต่อว่า ทางพนักงานอัยการจะยึดพยานหลักฐาน ในสำนวนที่เกิดจากการรวบรวมของพนักงานสอบสวนเป็นหลัก ทั้งจะพิจารณาหลักฐานจากพยานผู้เชี่ยวชาญ คือ แพทย์ที่ชันสูตรศพแม้จะดำเนินการถึงสองครั้ง โดยชั้นต้นทราบว่าไม่มีความแตกต่างกัน จึงถือเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดี ซึ่งแพทย์จะต้องทำบันทึกการตรวจพิสูจน์มาให้พนักงานสอบสวนนำสู่สำนวน และอัยการจะได้เสนอศาล พร้อมนำพยานเข้าเบิกความประกอบตาม ป.วิ.อาญามาตรา 243 ขอให้ผู้เสียหาย มั่นใจอัยการจะให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่

นายโกศลวัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เมื่อพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาว่า พาไปเพื่ออนาจาร เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และกักขังหน่วงเหนี่ยวเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ดังนั้นความตายของ น.ส.ฐิติมา จึงเกิดจากการถูกประทุษร้ายตามกฎหมายอาญามาตรา1(6) ซึ่งการประทุษร้ายอาจทำด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้ จนเขาตาย

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวอีกว่า ดังนั้น น.ส.ลันลาเบล จึงเป็นผู้เสียหายตายเพราะถูกทำร้ายดังนั้น บิดาของ น.ส.ฐิติมา จึงเป็น "ผู้เสียหาย มีอำนาจจัดการแทน" ตามป.วิ.อาญามาตรา 5(2) จึงเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตามมาตรา 3(2) และ 29 และหากศาลสั่งอนุญาต ก็จะมีฐานะเป็นคู่ความ สามารถนำเสนอพยานหลักฐาน และซักค้านจำเลยก็ได้ นอกจากนี้ ยังถือว่าเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดทางอาญา และเป็นละเมิดในทางแพ่ง 

...

"ดังนั้นคดีนี้จึงมีลักษณะเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาตามมาตรา 40 ซึ่งบิดาสามารถร้องขอให้ศาลบังคับให้ นายน้ำอุ่น กับพวก ใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าปลงศพ เป็นต้น พร้อมดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่เสียชีวิต โดยอัยการเจ้าของสำนวนจะแจ้งสิทธิ์เหล่านี้ให้บิดาทราบ หรือจะไปพบอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิ์ ธนบุรี เพื่อเขียนคำร้องและอัยการจะนำสืบ เพื่อขอให้ใช้ในทางแพ่งต่อไป" นายโกศลวัฒน์ กล่าว.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับ "ปม ลันลาเบล พริตตี้ดับปริศนา"