ดูแล้วไม่น่ารอด

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ดูแล้วไม่น่ารอด

Date Time: 13 มิ.ย. 2563 05:02 น.

Summary

  • การฟื้นฟูการบินไทย ตามด้วยแผนฟื้นฟู ขสมก. ที่มีหนี้สะสมระดับแสนล้าน มองไม่เห็นหนทางที่จะฟื้นฟู นอกจากจะยอมเจ็บ ปล่อยให้ล้มละลาย ตามกฎหมายจริงๆ โดยเฉพาะการบินไทย ที่จะต้องใช้เวลาดำเนินการ

Latest

ทรู-เอไอเอสทางโล่ง! ควงแขนประมูลคลื่น

เรื่องแรก การฟื้นฟูการบินไทย ตามด้วยแผนฟื้นฟู ขสมก. ที่มีหนี้สะสมระดับแสนล้าน มองไม่เห็นหนทางที่จะฟื้นฟู นอกจากจะยอมเจ็บ ปล่อยให้ล้มละลาย ตามกฎหมายจริงๆ โดยเฉพาะ การบินไทย ที่จะต้องใช้เวลาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้เรียบร้อยภายใน 7 ปี เป็นความหวังระยะยาวที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับวิกฤติอีกกี่ระลอก รวมทั้ง ขสมก. ที่ไม่รู้จะต่อลมหายใจไปได้อีกนานแค่ไหน

อยู่ที่ว่าจะยอมเจ็บทีเดียวหรือเจ็บทีละนิด

มาดู แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจากผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่สภาพัฒน์ เป็นคนรวบรวมโครงการตามข้อเสนอของกระทรวง ทบวง กรมและหน่วยงานของรัฐ ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก 4 แสนล้าน ถูกจับตามากที่สุดว่าจะเป็นเค้กก้อนใหญ่ให้นักการเมืองชื่นชมกันอย่างสนุกสนานหรือไม่

ล่าสุดการฟื้นฟูในส่วนภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว มีการเสนอมาทั้งสิ้น 91 โครงการ วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นโครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการสร้างแพลตฟอร์มจากเครื่องจักร เป็นต้น

แผนเศรษฐกิจชุมชน ด้านการเกษตร การพัฒนาแหล่งน้ำ การท่องเที่ยวชุมชน มีหน่วยงานเสนอมา 28,331 โครงการขอรับงบประมาณ 3.7 แสนล้านบาท จาก 55 จังหวัด จำนวน 28,196 โครงการ ขอรับงบประมาณ 2 แสนล้านบาท ผ่านช่องทางจังหวัดมาอีก 4,185 โครงการ ของบฯ 5.3 หมื่นล้าน ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด มาอีก 823 โครงการเป็นเงิน 1.6 หมื่นล้าน ระดับเทศบาลองค์การบริหารส่วนตำบลอีก 2 หมื่นโครงการ มูลค่า 7.9 หมื่นล้านบาท

ส่วนราชการประจำจังหวัด เสนอมา 2,781 โครงการ มูลค่า 5.4 หมื่นล้าน ส่วนราชการส่วนกลาง เสนอมาจาก 13 กระทรวง 4 หน่วยงาน ขึ้นตรงกับนายกฯ 115 โครงการ รวมงบฯ 1.6 แสนล้านบาท

แผนการกระตุ้นการบริโภค เช่น โครงการคูปอง 3 พันล้านบาท โครงการความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มี 3 โครงการที่ทำแพลตฟอร์มด้านดิจิทัล ถ้าจะรวมการของบประมาณมาจากทุกหน่วยงานแล้ว งบ 4 แสนล้านไม่พอแน่นอน

นำไปสู่ข้อสังเกตว่า งบประมาณก้อนนี้ จะนำไปแสวงหาผลประโยชน์โดยเฉพาะจากนักการเมืองหรือไม่ เพราะมีจำนวนโครงการมากมาย ตรวจสอบอย่างไรก็ไม่ทั่วถึงแน่นอน

แม้แต่การจะพิจารณาว่า โครงการใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม จะใช้มาตรฐานอะไร เป็นเครื่องมือ ท้ายที่สุดเกรงว่าจะมีการเล่นเส้นเล่นสายกันตั้งแต่ขั้นตอนของการอนุมัติโครงการ

จะมีการตรวจสอบอย่างไรให้โปร่งใส ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ รัฐจะต้องเริ่มต้นที่จุดนี้ก่อน เพราะถ้าต้นน้ำไม่มีประสิทธิภาพกระบวนการผลิตไปจนถึงปลายน้ำ จะกลายเป็นเค้กก้อนใหญ่ให้แสวงหาผลประโยชน์กันบานตะไท

จะอ้างแค่หลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คงฟังไม่ขึ้น.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ