วันหนึ่งในปี 2554 ชีวิตของ เบญจวรรณ รุ่งเจริญชัย เจ้าของอาณาจักรเครื่องเขียนภายใต้แบรนด์ “เคียนดะ” (KIAN-DA) และ “โค้ดดี” (CODE-D) เปลี่ยนไปตลอดกาล หลังได้ชมภาพยนตร์เรื่อง “Top Secret วัยรุ่นพันล้าน” ซึ่งสร้างจากชีวิตจริงของ “ต๊อบ -อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์” ผู้เริ่มต้นธุรกิจสาหร่ายทอด “เถ้าแก่น้อย” ขณะอายุเพียง 19 ปี
คุณหมู เบญจวรรณ ในวัย 35 ขณะนั้น เห็นความสำเร็จของเถ้าแก่น้อยที่วางขายทั่วประเทศผ่านร้าน 7-11 จึงอยากทำสินค้าขายในร้าน 7-11 ที่ซึ่งสามารถเข้าถึงผู้ซื้อได้วันละ 24 ชั่วโมงบ้าง แม้ต้องเผชิญกับความท้าทาย เพราะปากกาที่ขายในร้านเซเว่น ทดลองเขียนไม่ได้
ผ่านกระบวนการคิด เสาะหาสินค้า คุณหมูสรุปจบที่ “ปากกาลบได้” เนื่องจากขณะนั้นราคาขายสูงมาก แท่งละ 200 บาทขึ้นไป ทั้งที่แกะต้นทุนแล้ว ราคาต่ำกว่านั้นมาก คุณหมูหาวิธีติดต่อร้าน 7–11 โทร.ไปที่บริษัทซีพีออลล์ (เจ้าของร้าน 7–11) แจ้งว่ามีสินค้ามานำเสนอ เธอเล่าว่าโอ
เปอเรเตอร์ต่อสายให้คุยกับ “คุณจอย” ฝ่ายคัดเลือกสินค้า นำไปสู่การนัดหมาย พูดคุย ปิดจบได้แบบไม่ต้องรู้จักใคร ไม่มีคอนเนกชัน
จากโทรศัพท์สายแรกเมื่อเดือน ส.ค. 2555 นำไปสู่ออเดอร์สั่งซื้อปากกาลบได้ 40,000 แท่งแรก วางจำหน่ายในร้าน 7-11 ในปี 2556.... “เคียนดะ” (KIAN-DA) และ “โค้ดดี” (CODE-D) ขยายรายการสินค้าครอบคลุมอุปกรณ์เครื่องเขียน-สำนักงานหลายร้อยรายการ ด้วยยอดขาย 800,000 ชิ้นต่อเดือน ผ่านร้าน 7-11 ช่องทางเดียวมากว่า 12 ปีแล้ว
“เราทำงานกับ 7-11 ได้ราบรื่น เขาสอนเราเยอะมาก ทำงานกับเซเว่นยาก ละเอียด ระบบและเวลาต้องเป๊ะ คำไหนคำนั้น สินค้าของเราลองไม่ได้ คิดดูขายปากกาแต่ไม่ให้ลูกค้าลอง คุณภาพต้องเป๊ะขนาดไหน ข้อผิดพลาดมีบ้างแต่น้อย และเรารับผิดชอบเต็มที่ แม้ได้รับการติดต่อให้นำสินค้าไปวางจำหน่ายที่อื่นหลายแห่ง แต่เราจะอยู่กับเซเว่น ตราบเท่าที่เซเว่นยังเลือกเรา”
กว่าจะมาถึงวันนี้ ความสำเร็จของคุณหมูไม่ได้จบแค่การเอาปากกาลบได้เข้าไปขายในร้านเซเว่น ซึ่งปรากฏว่ายอดขายไม่เดินขายได้หลักพันแท่ง เงินลงทุนก้อนแรกประมาณ 500,000 บาท จมไปกับสต๊อกสินค้า ปัญหามาจากการมีสินค้าขายแค่ตัวเดียว พอคุณหมูขยายรายการสินค้า เพิ่มปากกาลูกลื่นมีปลอก ปากกา 3 สี ปากกาลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ ตั้งแต่ Sanrio, Line Friends, Starwars, Minion เป็นต้น ซื้อลิขสิทธิ์ถูกต้อง แต่ขายในราคาเริ่มต้น 16 บาท ด้วยคุณภาพระดับปากกาแบรนด์ดัง ใช้โรงงานผลิตประมาณ 20-30 แห่ง หลายโรงงานเป็นแห่งเดียวกับปากการาคาแพง ยอดขายจึงเริ่มผงกหัวขึ้นในปีที่ 3 จนปี 2568 นี้ KIAN-DA และ CODE-D กลายเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ Sanrio รายใหญ่ของประเทศไทยแล้ว
ในยุคที่คอมพิวเตอร์เข้ามาแทนกระดาษ ปากกาอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทนปากกาลูกลื่น คุณหมูบอกว่า ยอดขายของ KIAN-DA และ CODE-D ยังเติบโตได้เฉลี่ยปีละ 10% “พอแนวโน้มคนใช้ปากกาน้อย เราก็เพิ่มแรงกระตุ้นให้ลูกค้าอยากซื้อมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มปากกาลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ เพิ่มลาย เพิ่มแบบ เราขายไม่แพงในคุณภาพเดียวกัน ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบราคากับปากกาคาแรกเตอร์ที่วางขายในห้างสรรพสินค้าได้ ล่าสุดซีพีออลล์ลองให้เราทำสแตนด์ตั้งวางขายปากกาคาแรกเตอร์เป็นการเฉพาะ ทดลองขายในร้าน 7-11 ประมาณ 100 สาขา ปรากฏยอดขายโตขึ้นสูงสุด 1,000% กำลังขยายเพิ่มเป็น 200 สาขา”
ตราบใดที่ยังมีพนักงานออฟฟิศ นักเรียน สินค้าเครื่องเขียน-สำนักงานยังขายได้ การได้อยู่ในทำเลที่ตั้งอย่างร้าน 7-11 ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะลูกค้าเข้าถึงได้ตลอดเวลา ใกล้บ้าน “ตอนโควิด ยอดขายยังโตปกติ ลูกค้าต้องทำงานที่บ้าน เรียนที่บ้าน เดินออกมาซื้อเครื่องเขียนที่ร้าน 7-11 อย่างสะดวก เพราะร้านไม่ถูกปิด ขณะที่ห้างถูกปิดหมด”
ปี 2567 ที่ผ่านมา KIAN-DA และ CODE-D มียอดขายประมาณ 130 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการเคลียร์สต๊อกสินค้า ทำกำไรได้ประมาณ 15 ล้านบาท ธุรกิจของ KIAN-DA และ CODE-D เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท บีซีแอล 2022 จำกัด บริษัทสิ่งทอของครอบครัว ซึ่งคุณหมูนั่งเป็นกรรมการอยู่
ทุกวันนี้นอกจากจำหน่ายปากกา เครื่องเขียน เครื่องใช้สำนักงานแล้ว KIAN-DA และ CODE-D มีรายได้จากการรับทำสินค้า OEM (รับจ้างผลิต) ให้กับ 7-11 รวมทั้งการจัดหาสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วัสดุ ซอง พลาสติกบับเบิล เป็นต้น
นับจากวันที่ก้าวออกจากโรงหนัง ตั้งเป้าเอาปากกาเข้าไปขายในร้าน 7–11 คุณหมูกวาดมาแล้วทั้งรางวัลเอสเอ็มอีสร้างสรรค์และเอสเอ็มอียั่งยืน สิ่งที่อยากถ่ายทอดเพื่อเป็นวิทยาทาน คือการทำงานด้วยความตั้งใจ ไม่มีใครเกิดมาแล้วรู้ทุกอย่างค่อยๆเรียนรู้ไป ด้วยความรับผิดชอบ ตรงไปตรงมา “ทำธุรกิจอย่ากะล่อนและอย่าโกหก”
สำคัญที่สุดสำหรับคนค้าขายคือทำสินค้าให้ดีที่สุด ขายของที่ดี มีคุณภาพ “สำหรับ KIAN-DA และ CODE-D มีกลยุทธ์ด้าน “ราคา” เพิ่มเข้ามาด้วย เราขายสินค้าในราคาที่จับต้องได้ง่าย ไม่เอากำไรเยอะ ถ้าขายได้เยอะ กำไรจะมาเอง”.
เลดี้แจน
คลิกอ่านคอลัมน์ “Business on my way” เพิ่มเติม