มาลี สังวาลย์เล็ก รอง ผจก.มูลนิธิรามาธิบดี รับมอบเงินบริจาค 750,000 บาท จากในนาม ครอบครัวภักดีจรัส เพื่อสมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดี จัดซื้อเครื่องออกซิเจน high flow และเครื่องใส่ท่อช่วยหายใจแบบจอภาพแยก ที่บริษัท ซี.เอ็ม.ซี ถนนพัฒนาการ วันก่อน.
@ความร่วมมือของคนในชาติช่วยให้ผ่านวิกฤติ@
หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ยักษ์ใหญ่สารพัดสี จำหน่ายมากที่สุดของประเทศ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม 2564
“ธนูเทพ” ประจำการรับใช้ท่านผู้อ่าน...ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของ ไวรัสมรณะโควิด–19 ในประเทศไทย ที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละกว่า 1 พันราย และเสียชีวิตวันละ 20-30 ราย เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์รัตนสูตร ที่พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชนและขจัดปัดเป่าโรคภัย ในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด ทั้งนี้ สำหรับพิธีเจริญพระพุทธมนต์เป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม ที่กำหนดให้จัดขึ้นทั่วประเทศ โดยให้ทุกวัดสวดบทรัตนสูตรหลังทำวัตรเย็นทุกวัน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย...การเสริมสร้างพลังใจให้คนในชาติ ยามบ้านเมืองเผชิญวิกฤติ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ โปรดทราบโดยทั่วกัน

...
เช่นเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกมาประกาศให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด โดยเน้นย้ำว่า รัฐสามารถจัดหาวัคซีนให้ประชากรในประเทศได้ทุกคนแน่นอน และสำรองใช้เพื่อความปลอดภัยของคนไทย โดยที่ประชุม ครม. ได้เสนอให้การฉีดวัคซีนเป็น วาระแห่งชาติ ต้องดำเนินการอย่างครบวงจร ทั้งการจัดหา การกระจายฉีด เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้คนไทย จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคนมาเข้ารับการฉีดให้มากที่สุด ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ต่างยืนยันว่า วัคซีนทุกชนิดป้องกันป่วยรุนแรงหากติดเชื้อ และป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 100% โอกาสเกิดผลข้างเคียงมีน้อยมาก หากเปรียบเทียบกับโอกาสติดโควิด การเสียชีวิตจากโควิดมีสูงกว่าการฉีดแล้วเกิดผลข้างเคียงหลายพันเท่า ดังนั้น ฉีดดีกว่าไม่ฉีด...เชื่อในสิ่งที่มีเหตุผลจากผู้เชี่ยวชาญ ดีกว่าหลงตามกระแสข่าวป่วนให้เกิดความสับสน

อืม...ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติไวรัสโควิด ทุกองคาพยพต้องช่วยกัน ล่าสุด สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม สั่งการให้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่กำกับดูแลโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เร่งวางมาตรการป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพิ่มการเฝ้าระวังและปฏิบัติตามมาตรการต่างๆของภาครัฐ ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจไทย เพราะนิคมอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นแหล่งสร้างรายได้อันดับต้นๆของประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ หากเกิดการแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย...มือบริหารอาชีพ ต้องฉับไว ทันการณ์และทันเกม

...
ขณะที่ วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระบุ วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้หลุดพ้นจากวิกฤติโควิด จากการประเมินเบื้องต้น มีบุคลากรในโรงงาน และเจ้าหน้าที่ กนอ. ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ประมาณ 1 ล้านคน ที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกัน และบุคลากรประมาณ 5 แสนคน ยินดีรับภาระค่าใช้จ่ายในการฉีดรายละ 1,000 บาทเอง โดย กนอ.จะทำหน้าที่คนกลางประสานงานให้ได้วัคซีนจากภาครัฐมาโดยเร็ว รวมทั้งจะอำนวยความสะดวกให้ใช้ พื้นที่ของ กนอ. เป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่...ช่วยกันคนละไม้ละมือ เพื่อผ่านวิกฤติไวรัสไปด้วยกัน

ในยามที่ประเทศอยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน การเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถือเป็นเรื่องสำคัญ อย่างล่าสุด กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุถึงกรณี กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเลื่อนเปิดเทอมไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย.2564 แต่ไม่มีใครยืนยันได้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จะดีขึ้นหลังวันที่ 1 มิ.ย.นี้ และ กระทรวงศึกษาธิการ อาจจะต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไปอีก จึงเป็นความผันผวนของสถานการณ์ และผลกระทบต่อการเรียนการสอน พร้อมให้ข้อเสนอแนะว่า กระทรวงศึกษาธิการ ต้องตระหนัก คือ ต้องบริหารจัดการแบบวิกฤติ (Crisis Management) ไม่ใช่บริหารราชการแบบปกติ โดยต้องยึด 3 หลักสำคัญ ได้แก่ 1.การจัดลำดับความสำคัญ ต้องแยกงานประจำที่ต้องทำออกไป และคิดงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการเรียนการสอน กรณีนักเรียนไม่สามารถเข้าชั้นเรียนตามปกติได้ เช่น การเรียนออนไลน์ การเรียนผ่านโทรทัศน์ การเรียนที่บ้าน การให้ครูออกไปสอนนักเรียนในชุมชน เป็นต้น 2.การโฟกัสในงาน กระทรวงจะต้องทุ่มเททรัพยากร และบุคลากรที่มีไปยังโรงเรียน ให้สามารถจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด ส่วนกลางต้องตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยโรงเรียนและครูให้จัดการเรียนการสอนได้อย่างปลอดภัย และกำกับติดตามการปฏิบัติงานของครูทุกวัน 3.ความรวดเร็ว กระทรวงจะต้องยกเว้นกฎระเบียบและงานประจำที่ทำให้ครูปฏิบัติงานไม่ได้ออกไปก่อน ความล่าช้า 1 วัน ของการแก้ปัญหา คือ การเสียโอกาสการเรียนรู้ของนักเรียนอีก 1 วัน

...
ส่วน นพ. เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ส.ว. ในฐานะรองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ระบุถึง มาตรการควบคุมโควิด–19 ในพื้นที่ กทม. ว่า มาตรการที่ทำให้การระบาดลดระดับยังใช้ไม่ได้ผล จึงควรต้องมีมาตรการเสริม คือ ล็อกดาวน์บางเขต ที่คุมการติดเชื้อได้ยาก ควบคู่กับ เร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง ในเวลา 3 เดือน นี้ ประเทศไทยจะมีวัคซีน 20 ล้านโดส ฉีดให้ประชาชน แต่การลงทะเบียนจองวัคซีนยังมีน้อย เนื่องจากมีความเข้าใจไม่ครบถ้วน ควรปรับแผนการฉีดให้ประชาชนในชุมชนที่เป็น คลัสเตอร์ เชื่อว่าหากคนที่กังวลเรื่องการฉีดวัคซีนอยู่ ถ้าเห็นว่าคนที่ฉีดวัคซีนไม่เป็นไรจะเปลี่ยนมาฉีดเอง ไม่ต้องบังคับเหมือนหลายประเทศ เช่น อิสราเอลไม่บังคับฉีดวัคซีน แต่มีมาตรการเช่น คนฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม สามารถนั่งกินอาหารในร้านได้ ใครไม่ฉีดให้ซื้อกลับไปกินที่บ้านเท่านั้น ประเทศไทย ควรนำมาปรับใช้...ส่วนการตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านเข็ม ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 70% หรือ 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี เหลือเวลา 8 เดือน ดังนั้นต้องฉีดให้ได้เดือนละ 12 ล้านเข็ม หากระดมแพทย์ทุกโรงพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลเฉพาะทาง รวมกัน 1,000 แห่งทั่วประเทศ จะฉีดรวมกัน ได้ 4 แสนเข็มต่อวัน หากโรงพยาบาลเอกชนรับวัคซีนของรัฐแล้วบริการให้ประชาชนฟรี จะมีศักยภาพฉีดวัคซีนได้ถึงวันละ 6 แสนเข็ม...ทุกข้อเสนอแนะ รัฐบาลควรรับฟังและนำไปปรับใช้นะจ๊ะ

พ.ต.อ.จีรเดชน์เหมจินดา นายกสมาคมนักเรียนเก่าปทุมคงคา และคณะกรรมการสมาคม ร่วมกันจัดโครงการ “ปันน้ำใจชาวปทุมคงคา” เพื่อช่วยเหลือนักเรียนเก่าที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รายละ 500 บาท ทั้งนี้ นักเรียนเก่าที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางเฟซบุ๊กสมาคมฯ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 08-6151-6493

“ธนูเทพ”