จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม., สุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล จากไอคอนสยาม, ศ.ดร.เกษม จันทร์แก้ว จากมูลนิธิชัยพัฒนา เปิดโครงการรักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฯ ช่วยกันพัฒนาจัดการน้ำเสียอย่างยั่งยืน.
ร่วมสืบสานและน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านแนวคิด และทฤษฎีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และให้เกิดเป็นรูปธรรม โครงการไอคอนสยาม ได้ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนา และองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งชุมชนต่างๆที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการ “รักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่ได้ร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การใช้ชีวิตริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืนตลอดไป ในการเปิดตัวโครงการฯ ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เมื่อเร็วๆนี้

ผู้บริหารไอคอนสยาม “สุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล” กล่าวว่านโยบายของไอคอนสยาม พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งเราเน้นพันธกิจต่อสังคม 3 เรื่องหลัก คือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรอบ, การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและส่งเสริมต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนอย่างยั่งยืน และการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยอันดีงามที่อยู่คู่กับวิถีคนริมน้ำเจ้าพระยามาช้านาน สำหรับโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในการให้องค์ความรู้และร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรอบในพื้นที่คลองเป้าหมายจำนวน 7 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 เขตของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตคลองสาน เขตตลิ่งชัน และเขตบางกอกน้อย ซึ่งในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา คณะทำงานได้ลงพื้นที่สำรวจในเขตคลองสาน คลองวัดทองเพลง เป็นแห่งแรก และคลองสมเด็จเจ้าพระยา เป็นแห่งที่ 2 นอกจากนี้ ยังมีคลองเป้าหมายอีก 5 แห่ง อาทิ คลองวัดสุวรรณ และคลองสาน เขตคลองสาน, คลองวัดทอง เขตบางกอกน้อย, คลองลัดมะยม และคลองมหาสวัสดิ์ เขตตลิ่งชัน เป็นต้น ในการลงพื้นที่จะมีการสำรวจศึกษาลักษณะกายภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะวางแผนการบำบัดน้ำเน่าเสียได้อย่างเหมาะสมกับปัญหาของพื้นที่เหล่านั้น โดยมีเป้าหมายจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทุกพื้นที่ ภายในปี 2560
...

โอกาสนี้ ศ.ดร.เกษม จันทร์แก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิชัยพัฒนา และ ผอ.โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า มูลนิธิชัยพัฒนาได้นำองค์ความรู้ในด้านการบำบัดน้ำเสีย โดยยึดตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า “...ให้ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ เป็นเทคโนโลยีอย่างง่าย ใครๆก็สามารถทำได้ และมีวัสดุหาได้ในท้องที่...” มาดำเนินการในโครงการนี้ โดยใช้เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียที่เรียบง่าย แบ่งเป็น 2 ระบบ ได้แก่ วิธีการพึ่งพาธรรมชาติ โดยใช้สาหร่ายสังเคราะห์แสงเพื่อเติมออกซิเจนให้จุลินทรีย์หายใจและย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย และระบบที่สองคือ ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสียโดยใช้พืชและหญ้าที่มีคุณสมบัติกรองและดูดซับของเสียที่อยู่ในน้ำ สำหรับการบำบัดน้ำเสียจากชุมชน ซึ่งเป็นผลจากการประกอบกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้เกิดสารอินทรีย์ ซึ่งประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เป็นองค์ประกอบหลักในน้ำเสีย ซึ่งน้ำเสียเหล่านี้สามารถบำบัดได้โดยการประยุกต์ใช้การบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริ โดยอาศัยแสงแดดและสายลม เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำให้มีความเหมาะสม สำหรับจุลินทรีย์และสาหร่ายสีเขียวในน้ำ ซึ่งช่วยในการย่อยสลายสารอินทรีย์ เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำและป้องกันไม่ให้เกิดก๊าซที่มีกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นผลจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ด้วยจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจน อย่างไรก็ตาม ดูจากสภาพปัญหาแล้ว หากจะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนคาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี.



...
