ซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของเพลซิโอซอร์ (Plesiosaurs) สัตว์เลื้อยคลานทางทะเลยุคก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ มีศีรษะขนาดเล็ก คอยาว มี 4 ครีบยาว ถูกพบครั้งแรกปี พ.ศ.2366 แต่เมื่อเร็วๆนี้ มีการศึกษาเพลซิโอซอร์ขนาดเล็กในระบบแม่น้ำอายุ 100 ล้านปี ยุคครีเตเชียสที่ปัจจุบันเป็นทะเลทรายซาฮาราในโมร็อกโก ของทวีปแอฟริกา การค้นพบใหม่บ่งชี้ว่าเพลซิโอซอร์บางสายพันธุ์อาจเคยอาศัยอยู่ในน้ำจืด

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบาธและมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธในอังกฤษ และมหาวิทยาลัยฮัสซันที่ 2 ในโมร็อกโก ระบุว่าซากฟอสซิลเพลซิโอซอร์ขนาดเล็กดังกล่าว ประกอบด้วยกระดูกและฟันของเพลซิโอซอร์วัยผู้ใหญ่ มีความยาว 3 เมตร และมีกระดูกแขนของเพลซิโอซอร์วัยเด็กมีความยาว 1.5 เมตร ทีมนักวิทยาศาสตร์คาดว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาศัยอยู่และกินเหยื่อในน้ำจืดเป็นประจำท่ามกลางสัตว์อื่นๆ ทั้งกบ จระเข้ เต่า ปลา และสไปโนซอรัส ไดโนเสาร์ที่เชื่อว่าอาศัยอยู่ในน้ำเป็นหลัก ซึ่งบรรดาฟอสซิลสัตว์เหล่านี้ที่พบจะให้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับระบบนิเวศและสัตว์สมัยโบราณในแม่น้ำแห่งนั้น

นักวิทยาศาสตร์เผยว่า แม้กระดูกจะให้ข้อมูลว่าสัตว์ตายที่ไหน แต่ฟันก็น่าสนใจเพราะว่าฟันหายไปในขณะที่สัตว์ยังมีชีวิตอยู่ จะแสดงให้เห็นว่าสัตว์เหล่านั้นอาศัยอยู่ที่ไหน อีกทั้งจำนวนฟอสซิลเพลซิโอซอร์ในแม่น้ำ ก็บ่งชี้ความเป็นไปได้ว่า พวกมันสามารถทนต่อน้ำจืดและน้ำเค็มได้แบบเดียวกับวาฬบางตัว เช่น วาฬเบลูกา.

(ภาพประกอบ Credit : University of Bath)