เพื่อนบ้านของเราในระบบสุริยะอย่างดาวเนปจูนและดาวยูเรนัส เป็นดาวเคราะห์ที่นักดาราศาสตร์มีความสงสัยว่าแม้จะมีความคล้ายคลึงทั้งมวล ขนาด แถมองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศยังใกล้เคียงกัน แต่ลักษณะที่ปรากฏกลับแตกต่างกันอย่างเด่นชัด เมื่อพิจารณาจากความยาวคลื่นที่มองเห็นได้ จะเห็นว่าดาวเนปจูนมีสีฟ้าชัดเข้มกว่าดาวยูเรนัส

ล่าสุดทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ นำโดยนักฟิสิกส์ด้านดาวเคราะห์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ สามารถหาคำอธิบายได้แล้วว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น หลังจากพัฒนาแบบจำลองบรรยากาศแบบเดียวที่ตรงกับการสังเกตการณ์ของดาวเคราะห์ทั้งคู่นี้ โดยใช้การสังเกตการณ์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล, กล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ศึกษาเอกภพในช่วงคลื่นอินฟราเรด และกล้องโทรทรรศน์เจมิไนนอร์ธ ซึ่งแบบจำลองเผยให้เห็นว่าหมอกที่มากเกินไปบนดาวยูเรนัสก่อตัวขึ้นในชั้นบรรยา กาศที่มีความนิ่งเฉื่อยของดาวเคราะห์ และความเอื่อยเฉื่อยทำให้สีดูสว่างขาวขึ้นกว่าดาวเนปจูน นอกจากนี้ แบบจำลองยังเผยให้เห็นถึงการมีอยู่ของชั้นที่ 2 ที่ลึกกว่าของดาวเนปจูน ซึ่งเมื่อเกิดความมืดลงของชั้นเมฆ ก็ทำให้อธิบายจุดดำใหญ่ (Great Dark Spot) บนดาวเนปจูนที่ยานอวกาศวอยเอเจอร์ 2 สำรวจพบในปี พ.ศ.2532 ได้

การวิจัยใหม่ระบุว่า หากไม่มีหมอกหนาในชั้นบรรยากาศของดาวเนปจูนและดาวยูเรนัส ดาวเคราะห์ทั้งคู่ก็จะปรากฏเป็นสีฟ้าเกือบคล้ายๆ กันนั่นเอง.

(ภาพประกอบ : ดาวยูเรนัส (ซ้าย) และ ดาวเนปจูน (ขวา) Credit : NASA/JPL-Caltech/B. Jonsson)