รู้กันมานานแล้วว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีบทบาทสำคัญทางสังคมและวัฒนธรรมยุคโบราณ ใช้ในงานเลี้ยง พิธีกรรม เมื่อเร็วๆนี้ทีมนักโบราณคดีนำโดยเจียจิ้ง หวัง จากวิทยาลัยดาร์ตมัธในสหรัฐอเมริกา เผยการศึกษาหลักฐานการดื่มเบียร์เมื่อ 9,000 ปีก่อน ในภาคใต้ของจีน ซึ่งคือภาชนะดินเผาพบที่สุสานเมืองเฉียวโถวในมณฑลเจ้อเจียง

ภาชนะดินเผาดังกล่าวขุดพบในเนินดินกว้าง 80 × 50 เมตร สูงจากพื้นดิน 3 เมตร ล้อมรอบด้วยคูน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่ไม่พบโครงสร้างที่อยู่อาศัย ที่เนินดินยังพบ 2 โครงกระดูกมนุษย์และหลุมฝังภาชนะดินเผาหลายหลุม ภาชนะเหล่านี้ส่วนใหญ่มีสภาพสมบูรณ์ บางชิ้นทาสีขาว บ้างก็ตกแต่งด้วยลวดลาย มีขนาดแตกต่างกัน บางใบก็ค่อนข้างเล็กและมีขนาดใกล้เคียงกับภาชนะที่ใช้ในปัจจุบัน เมื่อวิเคราะห์เศษซากไมโครฟอสซิล เช่น แป้ง ไฟโตลิธ หรือซากพืชดึกดำบรรพ์ และเชื้อราที่สกัดจากพื้นผิวด้านในของภาชนะ พร้อมเปรียบเทียบสารตกค้างกับตัวอย่างที่ได้จากดินรอบภาชนะ ก็พบความสอดคล้องกันจนระบุได้ว่าภาชนะดินเผาเหล่านี้ใช้เพื่อบรรจุเบียร์ แม้เบียร์โบราณนี้จะไม่เหมือนกับในปัจจุบัน แต่อาจใช้วิธีหมัก รสชาติน่าจะมีความหวานเล็กน้อย และดูจะมีสีขุ่น

นอกจากนี้ ยังอาจเป็นภาชนะดินเผาทาสีที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่รู้จักในโลก เนื่องจากไม่พบภาชนะดินเผาประเภทนี้ในพื้นที่อื่นใดในยุคนี้ และยังเป็นหลักฐานการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อ 9,000 ปีก่อน ซึ่งถือได้ว่านี่คือหลักฐานแรกสุดที่แสดงให้เห็นถึงการใช้เบียร์เพื่อคารวะแก่ผู้วายชนม์.

(ภาพประกอบ Credit : Jiajing Wang)