เมื่อกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาทีมนักโบราณคดีในแอฟริกาได้พบหลุมฝังศพเด็กที่ยังไม่ระบุเพศได้ในถ้ำ Panga ya Saidi ใกล้ชายฝั่งเคนยา ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ซึ่งมีอายุประมาณ 78,000 ปีก่อน โดยเด็กคนนี้ถูกตั้งชื่อเล่นว่า “Mtoto” แปลว่า “เด็ก” ในภาษาสวาฮิล

การค้นพบสถานที่ฝังศพมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งนี้ทำให้เกิดความกระจ่างใหม่ๆ เกี่ยวกับชีวิตและอารมณ์ของมนุษย์โฮโม เซเปียนส์ในยุคแรก โดยจะช่วยให้เข้าใจแง่มุมอื่นๆ ของการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคแรก ไม่ว่าจะเป็น ความก้าวหน้าการใช้ความรู้ และเครื่องมือ การดำรงชีวิต และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมว่าเป็นอย่างไร นักโบราณคดีชาวเคนยาเผยว่าการฝังศพของหนูน้อย Mtoto วัย 2 ขวบครึ่ง หรือ 3 ขวบ ทำให้เริ่มเข้าใจมนุษย์ยุคนั้นที่มีความผูกพันทางอารมณ์บางอย่างกับคนตาย ว่าพวกเขาฝังศพพวกพ้องด้วยเจตนา และยังชี้ถึงความสามารถในการรับรู้การคิดเชิงนามธรรมด้วย

ทั้งนี้ เด็กน้อย Mtoto เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชนเผ่าเก็บของป่าล่าสัตว์ เนื่องจากใกล้ๆกันที่เป็นที่ดอนในป่าเขตร้อนได้พบซากสัตว์ในวงศ์แอนทิโลป (antelope) หลายชนิด ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกหนึ่ง มีความใกล้เคียงกับวัวหรือควาย, แพะ หรือแกะ และเหยื่ออื่นๆ นอกจากนี้ยังพบเครื่องมือหินสำหรับใช้ขูด เจาะรูและหินเอาไปประกอบเป็นส่วนหนึ่งของหอก ที่น่าสนใจคือการค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ในยุคแรกตั้งรกรากอยู่ใน เกรตริฟต์แวลลีย์ (Great Rift Valley) ที่ราบต่ำลักษณะเป็นเส้นยาว ขนาบข้างด้วยพื้นที่ราบสูง หรือแนวเทือกเขา ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันตกจากพื้นที่ชายฝั่ง.

...