พล.ต.สุรศักดิ์ ถนัดศีลธรรม รับมอบหน้ากากอนามัย N95 จาก โฆษิต สุขสิงห์, ประวิช สุขุม, ดร.เอกพล ณ สงขลา และ นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้แทนบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เพื่อนำไปป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า วันก่อน.
รวมพลังคนไทยต้านภัยไวรัสมรณะ โควิด หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐยักษ์ใหญ่ สารพัดสี จำหน่ายมากที่สุดของประเทศ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม 2564
“ธนูเทพ” ประจำการรับใช้ท่านผู้อ่าน...สถานการณ์แพร่ระบาดของ ไวรัสมรณะโควิด–19 ในประเทศไทย ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง แม้ รัฐบาล โดย ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด–19 หรือ ศบค. ออกประกาศข้อกำหนดใช้มาตรการเข้มใน พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ พื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี และ เชียงใหม่ ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง รวมทั้งห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น และขอความร่วมมือประชาชนให้งดเดินทางโดยไม่จำเป็น ตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น แต่ปรากฏว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ ยังพุ่งสูงวันละ 2,000 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตบางวันมากกว่า 30 ราย...ล่าสุดเกิดคลัสเตอร์ใหม่แหล่งแพร่ระบาดที่ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 300 ราย โยงชุมชนคลองเตยที่มีผู้อยู่อาศัยกว่า 80,000 คน และ ตลาดคลองเตย ที่เป็นศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่เกี่ยวข้องกับ คนเรือนหมื่นเรือนแสน สร้างความหวาดผวาไปทั่ว ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ต้องเรียกประชุมทีมแพทย์ที่ปรึกษา กทม. และศูนย์ปฏิบัติการ ศบค.อย่างเร่งด่วน พร้อมกำหนดมาตรการควบคุมสถานการณ์โดยทันที อาทิ การตรวจหาเชื้อเชิงรุกเร่งด่วน 1,000–1,500 คนต่อวัน เป้าหมายอย่างน้อย 20,000 คน เร่งแยกตัวผู้ป่วยส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและเร่งฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเสี่ยงให้ได้อย่างน้อย 50,000 คน ในสองสัปดาห์...นอกจากนี้ให้มีการจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด–19 กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยมีนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. เป็น ผอ.ศูนย์ด้วยตัวเอง และจัดตั้ง ศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด–19 ระดับเขต ในพื้นที่ กทม. โดยมี ผู้อำนวยการเขต ทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานครเป็นหัวหน้าศูนย์ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์หากมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง...ถือเป็นการตั้งรับอย่างฉับไวเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
...

ผ่างๆ... นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เน้นย้ำการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปีที่แล้ว เป็นสายพันธุ์จากอู่ฮั่น การระบาดที่ จ.สมุทรสาคร เป็นสายพันธุ์จากเมียนมา ที่เป็นสายพันธุ์ทั่วไป แต่การระบาดช่วงปลายเดือน มี.ค. และ เม.ย.ปีนี้ เป็น สายพันธุ์อังกฤษ ปริมาณไวรัสในลำคอผู้ป่วยจะมีจำนวนมาก ติดต่อง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 1.7 เท่า การระบาดของไทยขณะนี้จะเห็นว่ามีการสูญเสียชีวิตค่อนข้างมาก ถ้าเปรียบเทียบจากอดีต หรือราว 1% ของผู้ป่วย ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การสวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดการแพร่กระจาย ผู้ใกล้ชิดจะมีโอกาสรับเชื้อน้อยลง รวมถึง การกำหนดระยะห่าง และ หมั่นล้างมือ สิ่งสำคัญที่ช่วยลดการระบาดคือ การให้วัคซีน แม้มีความเสี่ยง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้ห่างกันเป็นพันเท่า โควิดมีโอกาสเสียชีวิตอย่างน้อย 1% แต่โอกาสเกิดอันตรายจากการฉีดวัคซีนอาจเป็น 1 ในหลายแสน หรือ 1 ในล้าน ส่วนการแพ้วัคซีนตามข่าวส่วนใหญ่เป็นอาการชั่วคราว แต่ยังไม่มีใครเสียชีวิตจากวัคซีน เหมือนอย่างที่เคยเปรียบเทียบว่า ความเสี่ยงในการข้ามถนนอาจจะมากกว่าการฉีดวัคซีนด้วยซ้ำ จึงขอให้มาฉีดวัคซีนกัน เพราะมีมาตรการป้องกันการเกิดอันตรายอยู่แล้วโดยการให้ฉีดที่โรงพยาบาล...เมื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันหนักแน่น ก็ไม่ควรวิตกกันจนเกินเหตุ

...
อืม...หลังจากมีกระแสข่าวว่า ยารักษาผู้ป่วยติดเชื้อ ไวรัสโควิด ขาดแคลน ล่าสุด อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ในห้วงที่ไวรัสโควิดแพร่ระบาดระลอก 3 กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการบริหารจัดการ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) อย่างมีประสิทธิภาพ และกระจายไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศอย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยมีระบบบริหารจัดการจากส่วนกลางและกระจายยาไปโรงพยาบาลในทุกจังหวัดที่รับผู้ป่วย พร้อมทั้งสำรองในโรงพยาบาลแม่ข่าย ทั้ง กรุงเทพมหานคร และ ภูมิภาค ทุกเขตสุขภาพ มากกว่า 20 โรงพยาบาล เช่น ในกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย สังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นแม่ข่ายกระจายยาให้ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกสังกัด โดยตั้งแต่วันที่ 26-30 เม.ย.2564 กระจายยาไปยังทุกจังหวัดที่มีผู้ป่วยทุกเขตสุขภาพแล้ว 765,600 เม็ด รวมทั้งมีการวางแผน จัดส่งยาฉุกเฉิน โดย องค์การเภสัชกรรม...ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่ให้ในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการ ตามแนวทางการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อลดความรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคโควิด–19 ส่วนของนโยบายรัฐบาลที่จะให้ไทยเป็น ฐานการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ในภูมิภาค ขณะนี้ได้ให้ องค์การเภสัชกรรม เร่งดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเจรจากับผู้ขอรับสิทธิบัตร เพื่อให้ได้สิทธิผลิตในประเทศไทยได้เอง โดยทาง กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอร่วมลงทุนผลิตยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค อีกทั้งยังมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาตำรับยาขึ้นใหม่จากสารออกฤทธิ์หลักของยาฟาวิพิราเวียร์ที่ไม่มีสิทธิบัตรในประเทศไทย ที่สามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรในยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบยาเม็ด กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยืนยันว่าทุกขั้นตอนเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายและพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า โรงพยาบาลเอกชน ก็ยังสามารถนำเข้ายาชนิดนี้ได้ โดยรัฐไม่ได้มีการผูกขาดการนำเข้า...รัฐบาล จะวางกลยุทธ์กว้างไกลขนาดไหน ไม่มีใครว่า แต่อย่าปล่อยให้ยารักษาโควิดขาดแคลนก็แล้วกัน

...
เฮ้อ...ปัญหา ผู้เสียชีวิต เพราะติดเชื้อไวรัสโควิดที่วัดบางวัดไม่รับเผาศพ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ญาติผู้เสียชีวิต อนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้สั่งการไปยัง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) โดย ณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.พศ. เปิดเผยว่า สาเหตุที่บางวัดไม่รับเผาศพ เนื่องจากเตาเผาบางวัดไม่มีความพร้อม เพราะการเผาศพผู้ติดเชื้อต้องใช้เตาเผาชนิดที่ปลอดมลพิษ และต้องเผาทันทีภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด ลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังชุมชนในพื้นที่ จึงเป็นที่มาว่า บางวัด ไม่สามารถดำเนินการ เผาศพผู้ติดเชื้อ ได้ แต่ขณะนี้ได้ประสานไปยัง พศ.จังหวัด และประสาน วัด ที่มีความพร้อมแล้ว โดยจะมีการประชุม พศ.จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อสำรวจวัดที่พร้อม เผาศพผู้ติดเชื้อ และจัดทำบัญชีรายชื่อประสานงานกับ สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างความมั่นใจแก่ญาติผู้เสียชีวิตว่ามีสถานที่สำหรับเผาศพอย่างแน่นอน

ผ่างๆ...ในสถานการณ์ที่ประเทศเผชิญไวรัสมรณะ ทุกฝ่ายต้องร่วมใจฝ่าวิกฤติ บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุ พนักงานจิตอาสา กฟผ.ได้ผลิตตู้ตรวจโควิดมอบให้สถานพยาบาลต่างๆได้ใช้งานตั้งแต่โควิดระบาด เมื่อปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวน 500 ตู้ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ในการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสโควิด-19 และขณะนี้สถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงขึ้น กฟผ. จึงได้เร่งผลิตตู้ตรวจโควิดเพิ่มเพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้ โดย โรงพยาบาลสนาม ที่มีความจำเป็นต้องใช้ตู้ตรวจโควิดสามารถติดต่อ กฟผ. โดยตรงทางอีเมล arthit.u@egat.co.th ...ร่วมแรงร่วมใจทำเพื่อส่วนรวม ต้องชื่นชมดังๆ
ท่ามกลางสถานการณ์ โควิดระบาด ระลอก 3 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นรายวันและจำนวนผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับนโยบายให้ดูแลผู้ป่วยอาการหนัก แต่ เตียง ICU ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องสร้าง ICU สนาม ที่เป็นห้องแรงดันลบ เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยหนัก ที่ลานจอดรถ รพ.ราชวิถี ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาค สร้าง ICU สนาม โดยบริจาคได้ที่บัญชี “เงินบริจาคของโรงพยาบาลราชวิถี” ธนาคารกรุงไทย สาขาสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เลขที่บัญชี 674-0-78192-3 หรือบริจาคด้วยตัวเองที่โรงพยาบาลราชวิถี ตึกสิรินธร ชั้น 1 วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-19.00 น. วันเสาร์-วันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.00-18.30 น. สอบถามเพิ่มเติม 0-2206-2900 ต่อ 62972 หรือ 08-0378-7972
ฮัดชิ้ว...ชาวบ้านใน ซอยนนทบุรี 42 หรือ ซอยรณสิทธิพิชัย อ.เมืองนนทบุรี ร้องมารถเก็บขยะเทศบาลนครนนทบุรีวิ่งเก็บขยะเฉพาะถนนในซอยใหญ่ ส่วนซอยแยกโดยเฉพาะ ซอยรณสิทธิพิชัย แยก 5 ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาเก็บขยะ ทำให้กองสุมส่งกลิ่นเหม็นเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค แถมช่วงนี้โควิดระบาดหนัก หวั่นมีขยะติดเชื้อปะปน ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ขอแรง เทศบาลนครนนทบุรี ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บขยะด้วย เพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
“ธนูเทพ”