ความทะเยอทะยานของมนุษย์จะว่าดีก็ดี แต่บางครั้งก็น่ากลัว ถ้ายังไม่หมดลมหายใจก็ต้องเดินหน้าไขว่คว้าให้ถึงจุดหมาย ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะอยู่ไกลเพียงใดก็ตาม อย่างที่กำลังกลายเป็นเรื่องร้อนระดับอวกาศ เกี่ยวกับประเด็นการถือครองสิทธิบนดวงจันทร์ บริวารของโลก
คำถามต่อมาก็คือใครต่อใครสามารถเป็นเจ้าของดินแดนบนดวงจันทร์ ได้จริงหรือ? เนื่องจากไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีบริษัทเอกชนหลายแห่งเริ่มเสนอแผนไปดวงจันทร์เพื่อ “ทำเหมือง” ขนเอาทรัพยากรบนนั้นกลับมายังโลก
บนดวงจันทร์มีอะไรที่โลกไม่มี? คำตอบคือ ดวงจันทร์มีแร่ธาตุและน้ำแบบที่โลกมีนั่นแหละ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน น้ำบนดวงจันทร์มีลักษณะเป็นเกล็ดน้ำแข็ง ส่วนโลหะก็เป็นชนิดที่นำมาใช้ประโยชน์กับเครื่องอิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน แต่เป้าหมายใหญ่ก็คือแร่ฮีเลียม-3 เปรียบดั่งสมบัติล้ำค่าที่ใครต่อใครจ้องตาเป็นมัน ว่ากันว่า แร่ชนิดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อโลกในด้านพลังงานอย่างยั่งยืน เพราะฮีเลียม-3 เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีในการใช้ผลิตพลังไฟฟ้าได้อย่างมหาศาลโดยไม่มีกัมมันตรังสี

...

ไร้พิษภัย ใครก็อยากได้...หมายความว่า ถ้าใครได้สิทธิทำเหมืองแร่ฮีเลียม-3 บนดวงจันทร์แล้วละก็ อาจผูกขาดการเป็นผู้นำด้านพลังงานของโลกไปเลยทีเดียว เพราะถึงจะเป็นการทำอุตสาหกรรม แต่ก็ไปทำนอกโลก ไม่รบกวนต่อความหลากหลายทางชีวภาพในโลก เรียกง่ายๆว่าโลกไม่สึกหรอไปกว่าทุกวันนี้ แถมยังได้พลังงานทดแทนที่สะอาด เตรียมบอกเลิกการใช้พลังงานเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมที่เรารู้จักกันในชื่อ “เชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์” อย่างถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ ฯลฯ
เป็นใครก็คงเห็นดีเห็นงาม ยิ่งทุกวันนี้สิ่งมีชีวิตบนโลกล้วนได้รับผลกระทบจากมลพิษ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกังวลว่าจะขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต กระทบต่อแหล่งอาหารของมนุษย์ภายภาคหน้า
แต่ใช่ว่าการจะครอบครองดวงจันทร์ของผู้ใดผู้หนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง จะเป็นเรื่องง่ายๆ ผ่านได้สะดวกโยธิน เมื่อดูท่าว่าแนวคิด “เหมืองบนดวงจันทร์” กำลังมาแรงมาก ก็จะต้องเกิดข้อถกเถียงกันใหญ่โต เช่น รัสเซียได้ประกาศกำลังเตรียมตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอวกาศมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ หรือสหรัฐอเมริกาก็วางแผนกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง หลังจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือองค์การนาซาจบโครงการอะพอลโลที่มุ่งภารกิจสำรวจดวงจันทร์แต่เพียงอย่างเดียวไปเมื่อ พ.ศ.2515


มีรายงานว่าหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไฟเขียวโครงการดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่จะนำพามนุษย์ไปยังดวงจันทร์เพื่อเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์และใช้ประโยชน์ในระยะยาว องค์การนาซาก็รับลูกต่อทันทีโดยกำลังเจรจากับบริษัทเอกชนจำนวน 9 แห่ง เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานบนดวงจันทร์ โดยก่อนหน้านี้องค์การนาซาประกาศทำ โครงการลูนาร์ ออบิทัล แพลตฟอร์ม-เกตเวย์ (Lunar Orbital Platform-Gateway) จะส่งยานอวกาศโอไรอัน (Orion spacecraft) ไปโคจรรอบดวงจันทร์ รวมถึงนำนักบินอวกาศไปย่ำเดินยังดวงจันทร์อีกครั้งในปี พ.ศ.2567 และจะได้เห็นสถานีลูนาร์ เกตเวย์ สำหรับพักยานก่อนที่ยานอวกาศจะร่อนลงจอดบนผิวดวงจันทร์ต่อไป
...
การหวนคืนสู่ดวงจันทร์ ของสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องที่น่าจับตา ซึ่งอาจมีนัยสำคัญ อย่าลืมว่าขณะนี้ยานอวกาศ ฉางเอ๋อ โฟร์ ของจีนกำลังขะมักเขม้นทำภารกิจอยู่ที่ด้านไกลของดวงจันทร์ พื้นที่ที่ยังไม่เคยมีใครไปสำรวจมาก่อน เนื่องจากที่ผ่านๆมายานอวกาศของฝั่งอเมริกาและรัสเซียล้วนไปลงจอดด้านที่ดวงจันทร์หันหน้าเข้าหาโลก
นอกจากจีนจะสร้างประวัติศาสตร์นำยาน อวกาศของตนไปปักหลักจอดในอีกด้าน พวกเขายังแปลงให้ยานฉางเอ๋อ โฟร์กลายเป็นห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ทดลองเพาะเมล็ดพันธุ์พืชทดสอบสภาพอากาศบนดวงจันทร์ด้านไกล ชี้ให้เห็นว่าหลังจากปล่อยให้มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯและรัสเซียแข่งขันกันมายาวนาน ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่วงการอวกาศแดนมังกรจะกระโดดเข้าร่วมวงด้วยคน ยังไม่นับอินเดียและอิสราเอลที่อาจกลายเป็นชาติที่ 4 และ 5 ที่จะสร้างประวัติศาสตร์ส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์เช่นกัน


เรียกว่าเค้กก้อนโตที่ชื่อ “ดวงจันทรา” ช่างหอม หวนยิ่งนัก! ใครๆก็อยากมีส่วนร่วมแบ่งปัน เพียงแต่จะพัฒนาศักยภาพของกำลังเงินและบุคลากรของตนได้พร้อมมากน้อยแค่ไหน และเร็วกว่ากันเพียงใด
จริงๆแล้ว ใครจะทำตามอำเภอใจในอวกาศ ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ยังมีกฎหมายอวกาศบังคับใช้กันอย่างกว้างขวาง ส่วนข้อตกลงเกี่ยวกับดวงจันทร์ก็มี นั่นคือ “สนธิสัญญาจันทรา” (Moon Treaty) ที่เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2522 เป็นข้อตกลงที่ต่อยอดมาจาก “สนธิสัญญาอวกาศ” (Outer Space Treaty) ปี พ.ศ.2510 ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ จีน และอีกราว 130 ชาติร่วมลงนาม

สนธิสัญญาจันทราประกาศเจตนารมณ์ว่าดวงจันทร์และเหล่าเทห์ฟากฟ้าอื่นๆ จะต้องถูกใช้สอยให้เป็นประโยชน์ต่อประชาคมโลก ทว่าอเมริกา รัสเซีย และจีน ไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญานี้ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ลงนามและให้สัตยาบรรณ สนธิสัญญาฉบับนี้จึงมีสภาพเหมือนเสือกระดาษกลายๆจนถึงทุกวันนี้.
...
กันเกรา