อาการเจ็บคอเรื้อรัง...ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งกล่องเสียงได้ เพราะเมื่อเร็วๆนี้ งานวิจัยล่าสุดในอังกฤษได้มีข้อเสนอแนะให้แพทย์ด้านเวชปฏิบัติทั่วไป (General practitioner-GP) ที่พบคนไข้ซึ่งมีอาการเจ็บคอเรื้อรัง ร่วมกับ อาการหอบ, กลืน อาหารลำบาก หรือปวดหู อาจเป็นไปได้ว่า คนไข้เหล่านี้อาจกำลังเริ่มมีอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งกล่องเสียง ซึ่งแพทย์จะแนะนำคนไข้ที่มีอาการเสียงแหบ หรือก้อนที่ลำคอที่หาสาเหตุไม่ได้ ให้เข้ารับการตรวจหามะเร็งกล่องเสียง หรือมะเร็งลำคอ เพื่อเป็นการป้องกันและให้การรักษาในระยะเริ่มแรก หากอาการดังกล่าวเป็นสาเหตุของมะเร็งจริงๆ

อย่างไรก็ตาม เหว่ย หลิน อู๋ ผู้เชี่ยวชาญองค์การ Cancer Research ของอังกฤษ บอกว่า แม้จะเป็นเรื่องที่ต้องควรระวัง แต่คนไข้ก็ไม่ควรตื่นตระหนก เพราะบางครั้งอาการเจ็บคอเพียงอย่างเดียว อาจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นมะเร็งกล่องเสียงก็ได้ เพียงแต่การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีหลักฐานดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันที่จะสนับสนุนข้อแนะนำให้ส่งตัวคนไข้เดิมที่เคยมารับการรักษาอาการเสียงแหบเรื้อรังไปรักษาต่อ

...

งานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ (University of Exeter) และตีพิมพ์ในวารสาร General Practice ของอังกฤษ นักวิจัยได้ศึกษาประวัติคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง จำนวน 806 คน และคนไข้กลุ่มควบคุมอีก 3,559 คน จากสถานพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไปมากกว่า 600 แห่ง

ดร.เอลิซาเบธ เชปเพิร์ด หัวหน้าคณะนักวิจัย ให้ข้อมูลว่า การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาอาการทุกชนิดที่อาจมีความสำคัญกับอาการป่วยเป็นมะเร็งกล่องเสียงเป็นครั้งแรก

“สิ่งสำคัญคือการที่เราพบว่าอาการเสียงแหบมีความเกี่ยวข้องกับมะเร็งกล่องเสียง และความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งกล่องเสียงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีอาการร่วมกับการเจ็บคอ เรื้อรัง” ดร.เอลิซาเบธบอกและว่า ในสหราชอาณาจักรพบผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงรายใหม่ประมาณ 2,000 รายต่อปี

ศ.วิลลี ฮามิลตัน หนึ่งในคณะผู้วิจัยบอกว่า งานวิจัยครั้งนี้ จะนำไปสู่การกำหนดแนวปฏิบัติทางการแพทย์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจากสถาบันแห่งชาติเพื่อสุขภาพและความเป็นเลิศในการดูแลรักษา (National Institute for Health and Care Excellence) ที่เรียกว่า NICE โดยงานวิจัยชิ้นนี้มีความสำคัญ เพราะแสดงให้เห็นถึงความร้ายแรงของกลุ่มอาการบางอย่าง ที่ก่อนหน้านี้ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ ทั้งนี้ งานวิจัยนี้ไม่ได้พูดถึงเพียงแค่อาการเจ็บคอทั่วไป แต่อาการเจ็บคอต้องรุนแรงพอที่จะไปพบแพทย์

“เราต่างคุ้นเคยกับอาการเจ็บคอ แต่อาการเจ็บที่ถึงกับต้องไปหาหมอนั้นไม่ใช่อาการเจ็บคอปกติอยู่แล้ว เพราะมันมากกว่าที่คนไข้เคยเป็น” ศ.ฮามิลตัน บอกและว่า นอกจากอาการเจ็บคอแล้วยังมีอาการเรื้อรังอื่นๆร่วมด้วย ตั้งแต่อาการเจ็บคอ, เสียงแหบ,
มีปัญหาในการหายใจหรือกลืนอาหาร ซึ่งล้วนแล้วแต่อาจเป็นสัญญาณเตือนได้

การศึกษาครั้งนี้จะถูกนำไปรวมไว้ในแนวปฏิบัติของ NICE เมื่อมีการปรับปรุงเนื้อหา เพราะการเลือกส่งตัวคนไข้ไปรับการรักษาต่อถือว่ามีความสำคัญ ถ้าคนไข้ถูกส่งตัวมาเร็วขึ้น เราก็สามารถตรวจพบมะเร็งเร็วขึ้น และคนไข้ก็จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องได้เร็วขึ้นด้วย

สำหรับมะเร็งกล่องเสียงพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่อาจเพิ่มความ เสี่ยงของการเป็นมะเร็งกล่องเสียง

ปัจจุบันการรักษาหลักๆของมะเร็งชนิดนี้ คือ การผ่าตัด รังสี และ เคมีบำบัด ซึ่งหากมะเร็งยังมีการลุกลามต่อเนื่องคนไข้อาจต้องผ่าตัดเพื่อนำกล่องเสียงบางส่วนหรือทั้งหมดออก ซึ่งหมายถึงคนไข้จะไม่สามารถพูดหรือหายใจในแบบปกติได้อีกต่อไป แต่จะต้องหายใจผ่านรูที่เจาะไว้อย่างถาวรที่คอ และจำเป็นต้องรับการรักษาเพิ่มเติมเพื่อช่วยทำให้กลับมามีเสียงอีกครั้ง ซึ่งอาจต้องฝังอุปกรณ์ในลำคอ หรือใช้อุปกรณ์ไฟฟ้ากดที่ลำคอ เพื่อทำให้มีเสียงพูด

ก่อนหน้านี้ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) เปิดเผยรายงานประจำปีฉบับล่าสุด ระบุว่า ภายในช่วงสิ้นปี 2018 มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 18.1 ล้านคนทั่วโลก และยอดผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งพุ่งสูงถึง 9.6 ล้านคน

ตัวเลขดังกล่าวถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับสถิติของปี 2012 ที่มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 14.1 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 8.2 ล้านคน ซึ่งนักวิจัยคาดว่าแนวโน้มนี้มีสาเหตุมาจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนของประชากรสูงวัยมากขึ้น

...

การคาดการณ์ตามสถิติล่าสุดชี้ว่า มีโอกาสที่ผู้ชาย 1 ใน 5 คน และผู้หญิง 1 ใน 6 คน จะล้ม ป่วยเป็นโรคมะเร็งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต โดยสาเหตุของมะเร็งมาจากวิถีการดำเนินชีวิตในสังคม ที่มีความมั่งคั่งมากขึ้น ยิ่งกว่าที่จะเกี่ยวข้องกับสาเหตุเรื่องความยากจนดังเช่นก่อนหน้านี้ ผลการ ศึกษาดังกล่าวมาจากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลโรคมะเร็ง 36 ชนิด ใน 185 ประเทศทั่วโลก โดยเกือบครึ่งของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งจำนวนมากที่สุด

สำหรับมะเร็งชนิดที่มีผู้ป่วยมากที่สุดและทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมะเร็งทั้งสามชนิดนี้คิดเป็น 1 ใน 3 ของกรณีที่มีการตรวจพบทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปอดนั้น ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่สูงที่สุดของผู้หญิงใน 28 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ จีน ฮังการี เดนมาร์กและนิวซีแลนด์.