ในฐานะทูตสันถวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประเทศไทย “ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก” ได้ทำหน้าที่ด้วยการลงพื้นที่เยี่ยมผู้ลี้ภัยที่ประสบปัญหาที่อพยพมาอยู่ในประเทศต่างๆ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 8-10 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาในค่ายกูตูปาลอง ประเทศบังกลาเทศ พร้อมนำประสบการณ์ตรงจากการได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ลี้ภัยที่ค่ายกูตูปาลอง มาถ่ายทอดถึงสิ่งที่เธอได้พบเห็นมา ที่สำนักงาน UNHCR ประ จำภูมิภาคเอเชีย อาคารเวฟเพลส เพลินจิต เมื่อเร็วๆนี้

ทูตสันถวไมตรีสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ “ปู-ไปรยา” เปิดเผยว่า นี่เป็นการเดินทางเยี่ยมผู้ลี้ภัยในต่างประเทศเป็นครั้งที่ 2 จากคราวที่แล้ว ที่ได้ไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยซีเรียในประเทศจอร์แดน แต่ครั้งนี้ได้ไปเห็นสภาพชีวิตของชาวโรฮีนจา ที่ค่ายกูตูปาลอง ซึ่งรองรับจำนวนผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาถึง 900,000 คน ถือเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังคงมีผู้ลี้ภัยอพยพเข้ามาอย่างต่อเนื่องทุกเดือน พวกเขาตกอยู่ในสภาพที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง ร้อยละ 55 ของประชากรคือเด็ก และจำนวนมากคือเด็กที่เป็นผู้นำครอบครัวหลายคนเจอความโหดร้ายมาตลอดชีวิต ถูกกดขี่ ล่วงละเมิด สูญเสียคนในครอบครัว พลัดพราก และบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ โดย 1 ใน 3 ของครอบครัวจะมีผู้ที่เปราะบางและต้องการความช่วยเหลือเฉพาะด้าน การลงพื้นที่ครั้งนี้ ตนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ลี้ภัยที่เพิ่งเดินทางมาถึงค่าย บางคนอดข้าวอดน้ำมา 7 วัน หรืออย่างครอบครัวอาราฟ่า ที่หนีกันมา 3 คนพ่อแม่ลูก เขาเล่าให้ฟังว่า ญาติของเขาทุกคนถูกจับขังคุก และพวกเขาเคยถูกทำร้าย รู้สึกหวาดกลัวจึงตัดสินใจหนี เพราะที่นั่นมีแต่ความน่ากลัว ยอมที่จะตายดีกว่ากลับไป หรืออีกคนที่เพิ่งหนีเข้ามาได้เพียง 12 วัน เธอชื่อราเบีย ที่เล่าให้ปูฟังว่า เธออดทนที่จะอยู่ไม่ยอมลี้ภัยทั้งๆที่เดินทางไปไหนก็ไม่ได้ หาอาหารก็ไม่ได้ เธอรอจนลูกของเธออายุได้ 1 ขวบ จึงลี้ภัยพร้อมหลายๆ ครอบครัว ใช้เวลาเดินเท้า 7 วัน ระหว่างนั้น เธอก็พลัดหลงจากญาติๆ ไม่มีอาหาร ลูกวัย 1 ขวบของเธอเสียชีวิตในอ้อมกอดของเธอเอง เธออดทนเดินทางต่อจนถึงค่ายกูตูปาลอง

...

ทูตสันถวไมตรี UNHCR กล่าวต่อว่า การเดินทางไปบังกลาเทศและได้พบปะชาวโรฮีนจาครั้งนี้ ทำให้ตนได้เรียนรู้และเข้าใจถึงชีวิตของพวกเขา ได้เข้าใจถึงความรุนแรงที่เขาประสบในชีวิต และรู้สึกว่าทำให้การทำงานของตนมีคุณค่าและมีความสำคัญมากขึ้น ดีใจที่ได้มาสร้างความรับรู้ให้กับคนไทย ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีคลิปวิดีโอบรรยากาศในค่ายมาให้ชมกัน และในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ตนมองว่า ไม่ควรมีใครควรจะเจอแบบนี้ ทุกคนมีสิทธิที่จะมีสัญชาติ มีบ้าน ที่อยู่อย่างปลอดภัย และไม่มีมนุษย์คนไหนเกิดมาแล้วอยากเป็นผู้ลี้ภัย ต้องมาขออาศัยในประเทศอื่น และมีชีวิตอย่างยากลำบาก จึงขอเชิญชวนทุกคนมอบความเห็นใจ และสนับสนุนผู้ลี้ภัย รวมทั้งการทำงานของ UNHCR ซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทาย โดยเฉลี่ย UNHCR ใช้เวลาเกือบ 20 ปีกว่าจะแก้ปัญหาให้ผู้ลี้ภัยได้ และตนยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทูตสันถวไมตรีของ UNHCR ต่อไป การลงพื้นที่ในแต่ละครั้งมอบความทรงจำ และพลังในการที่ต้องทำงานหนักต่อไป เพื่อเพื่อนมนุษย์ของเรา.