มนุษย์เราใช้ความฉลาดในการคิดไฮเทคต่างๆขึ้นมาด้วยคาดว่าจะโกงความตายได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีทั้งความหวังและความเชื่อ ดังจะขอยกตัวอย่างพอหอมปากหอมคอสัก 2-3 อย่างอาบความเย็น เป็นการใช้ความเย็นเข้ามาบำบัดเพื่อช่วยให้ร่างกายไกลจากความเสื่อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคต่างๆ มีหลักการที่เชื่อกันในหมู่คนที่ศรัทธาลัทธินี้คือ ความเย็นนั้นช่วยลด “การอักเสบ” ได้ดี ซึ่งการอักเสบที่ว่าถือเป็นบ่อเกิดของโรคส่วนใหญ่ จึงเป็นที่มาของการทำ “ไครโอบำบัด” ที่ทำเป็นสปาให้กับคนเป็นๆที่เจ็บป่วยเดินเข้าไปแล้วเอาตัวไปแช่อยู่ในความเย็นที่กำหนด
ครีมสเต็มเซลล์ มีเครื่องสำอางจำนวนมากในระยะหลัง ที่โฆษณาว่ามีพลังแห่งสเต็มเซลล์พืชเข้ามาผสมอยู่ โดยครีมเหล่านี้จำนวนหนึ่งอ้างถึงสเต็มเซลล์ที่มาจาก “แอปเปิ้ล” ที่ค่อนข้างพบบ่อย ซึ่งมีคอร์สเสริมความงามที่ใช้ครีมสเต็มเซลล์ที่ว่านี้มาบำรุงผิวหน้าให้คนไข้ ในต่างประเทศมีใช้กันพอสมควรครับ
สเต็มเซลล์ชะลอวัย ถ้าในแง่ของการชะลอวัย หรือโกงความตายโดยตรงนั้นยังไม่มีหลักฐานจำนวนมากพอรองรับ แต่สำหรับในแง่ของการแพทย์นั้นสเต็มเซลล์แบบที่เรียกว่า “iPS” หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่ใช้เทคโนโลยีทำให้เซลล์ผู้ใหญ่ของคนเราย้อนเวลากลับไปเป็นเซลล์ต้นกำเนิดอีกครั้ง เพื่อให้มันเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ร่างกายอื่น เช่น เซลล์หัวใจ, ประสาท, กล้ามเนื้อ แล้วใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆนั้นมีอยู่ และมีงานวิจัยที่กำลังดำเนินไปอยู่มากครับ
นี่ยังไม่รวมถึงยาอายุวัฒนะที่คนหลายกลุ่มเชื่อกัน ซึ่งที่จริงการจะบำรุงร่างกายแบบชะลอวัยนั้นควรต้องใช้หลายปัจจัยร่วมกัน เช่น เรื่องอาหารการกินและออกกำลังกายเข้ามาด้วย เพราะ 2 สิ่งนี้มีข้อพิสูจน์งานวิจัยจำนวนมากที่รองรับว่าได้ผลดีต่อสุขภาพ ไม่ต้องเสี่ยงหมดสภาพเหมือนการโกงความแก่วิธีอื่นๆ ที่ยังไม่มีผลรองรับ
...
แต่สำหรับคนจำนวนหนึ่งในโลกก็มีทั้งโชคดีและโชคร้ายในการโกงความตาย กล่าวคือสามารถรอดตายในสถานการณ์ที่ไม่น่ารอดมากๆ ทว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ไม่อาจรอดพ้นจากชะตากรรมได้อยู่ดี ซึ่งมีตัวอย่างบุคคลที่รอดตายแต่ไม่สุด ดังที่คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนได้นำมาเสนอต่อไปนี้

ยอร์จ วอชิงตัน (George Washington) บิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกาบนทวีปใหม่ ท่านอดีตประธานาธิบดีคนปฐมนี้เคยเกือบที่จะไม่ได้ลืมตาดูโลกมาแล้วอย่างเฉียดฉิว ด้วยวันหนึ่งเมื่อมารดาของท่านกำลังนั่งรับประทานดินเนอร์มื้อเย็นกับแขกท่านอื่นๆอยู่ ก็มีสายฟ้าฟาดเปรี้ยงผ่าลงมาตรงปล่องไฟตรงเข้าในบ้านผ่านออกมาที่เตาผิงซึ่งอยู่ติดกับโต๊ะดินเนอร์ ที่แขกเหรื่อรวมทั้งท่านมารดาของบุรุษหมายเลข 1 ในอนาคตกำลังนั่งรับประทานอยู่อย่างเพลิดเพลิน ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตทันทีหนึ่งราย คือ สุภาพสตรีที่นั่งอยู่ข้างแมรี บอล วอชิงตัน โดยความแรงของกระแสไฟฟ้าผ่านั้นสูงเสียจนหลอมให้มีดและส้อมโลหะที่ถืออยู่นั้นละลายติดกันไป เพราะฉะนั้นตัวคนถือเองก็ไม่ต้องพูดถึง ต้องเสียชีวิตทันทีอย่างน่าสงสาร ส่วนคุณแมรีมารดาของท่านวอชิงตันที่อยู่ใกล้ๆ กลับไม่เป็นอะไรแม้แต่นิด จึงเรียกได้ว่าชีวิตน้อยๆของทารกวอชิงตันในครรภ์นั้นรอดจากมฤตยูมาได้แบบหายใจรดต้นคอจริงๆ

เฮอร์นัน คอร์เตซ (Hernan Cortes) ชายผู้ทำลายอารยธรรมอายุนับพันปีแห่งแอสเต็กลงได้ภายในชั่วพริบตา ทว่าครั้งหนึ่งในชีวิตของบุรุษชาวสเปนผู้นี้ก็เคยเกือบได้นัดพบกับพระยมไว้เหมือนกัน เมื่อคอร์เตซผู้เป็นนายทหารชาวสเปนได้มาขึ้นบกที่ทวีปอเมริกาใต้ เขาก็พบกับการต่อต้านจากชนพื้นเมืองที่ทรงอำนาจยิ่งคือ พวกแอสเต็ก ด้วยการซุ่มโจมตีกองทหารสเปนจนที่สุดแล้ว ณ เมืองหลวงเทนอคทิทลาน (Tenochtitlan) เหล่าชาวสเปนรวมทั้งคอร์เตซก็ถูกจับกุมตัวมัดมือไพล่หลังรอคอยการสำเร็จโทษเป็นรายคน
ซึ่งการสังหารโหดสไตล์แอสเต็กก็คือ นำเชลยขึ้นไปบนยอดพีระมิดที่มีแท่นหินราบตั้งอยู่แล้วตรึงให้นอนนิ่งก่อนจะกรีดหน้าอกทั้งเป็น เพื่อควักเอาหัวใจฉ่ำเลือดที่เต้นตุบๆออกมาสังเวยเทพเจ้า แล้วจึงเฉือนมือและเท้าทั้งหมด ซึ่งจากบันทึกที่เขียนไว้โดยนักประวัติศาสตร์ รอสส์ ฮาสซิก ใน The Immolation of Hernan Cortes นั้นให้รายละเอียดไว้ว่า พวกสเปนถูกบังคับให้ “ร่ายรำเพื่อสักการะเทวรูปแห่งสงคราม ฮูทซิโลโพทลี แล้วจากนั้นทีละคน ทีละคน ก็ถูกนำตัวขึ้นไปสังเวย...หัวใจของพวกเขาถูกตัดออก และใบหน้ากับมือทั้ง 2 ถูกกรีดเพื่อเลาะหนังออก แล้วส่งไปตามหัวเมืองเพื่อข่มขวัญศัตรู” ผลก็คือในคืนแห่งการสังเวยด้วยเลือดนั้น มีชาวสเปนถึง 58 คนถูกฆ่า ส่วนยอดชายคอร์เตซก็ถูกลากขึ้นไปจนถึงแท่นแหวะหัวใจ แต่ก็ปรากฏอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยไว้ทันเวลา ซึ่งพระเอกท่านนี้นามว่า คริสโตบัล เด ออเลีย ลูกเรือที่เดินทางมาด้วยนั่นเอง
...
กัปตันคอร์เตซสามารถรอดตายมาได้ และก่อความหายนะแก่กษัตริย์และมหาอาณาจักรแอสเต็กอันยิ่งใหญ่ในกาลต่อมา

โธมัส เพน (Thomas Paine) ท่านผู้นี้อาจมีชื่อไม่คุ้นหูนัก แต่นักเรียนประวัติศาสตร์อเมริกันจะต้องรู้จักดี เพราะท่านมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในสมัยปฏิวัติเพื่ออิสรภาพรุ่นเดียวกับยอร์จ วอชิงตัน ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ท่านโธมัสก็มีชื่อเสียงเรียงนามไม่แพ้ท่านยอร์จ ถ้าเทียบกันแล้วก็เหมือนกับเช กูวารา ที่เป็นนักปฏิวัติรุ่นหลังผู้มีใบหน้าใส่แว่นดำติดอยู่ตามท้ายรถสิบล้อบ้านเรา แต่เหตุที่เราไม่ค่อยรู้จักก็เป็นด้วยว่าเขาถูกรัศมีของนักปฏิวัติคนอื่นที่เด่นกว่ากลบเสียหมด
ด้วยความเป็นนักเขียนและเผยแพร่แนวคิดที่หลายคนว่ารุนแรงในศตวรรษที่ 18 ทำให้เพนถูกหมายหัวไว้โดยผู้มีอำนาจ ซึ่งก็พอเข้าใจได้จากความที่เป็นชายหนุ่มผู้รักอิสรภาพ เพราะเมื่อเขาต้องระเห็จจากอังกฤษแล้วก็ไปสร้างผลงานไว้ที่ฝรั่งเศส ด้วยว่ามีอิทธิพลต่อการปฏิวัติใหญ่ล้มระบอบกษัตริย์ในยุคนั้น อย่างไรก็ดี ข้อเสียของการปฏิวัติก็คือ มันเป็นสัตว์ที่กินลูกของมันเอง โดยผู้มีส่วนในการปฏิวัติมักถูกกำจัดในเวลาต่อมา ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่เว้นกระทาชายนายเพน ที่เมื่อถึงจุดหนึ่งคณะพรรคพวกผู้ก่อการก็เห็นว่าเขาเป็นตัวอันตราย ด้วยแนวคิดที่จุดชนวนความรุนแรงได้ทุกเมื่อ จึงได้ลงมติกันจับโธมัส เพน ให้นอนคุกรอการประหารชีวิตเสียให้สิ้นเรื่องราว
โดยนายเพนเมื่อถูกเพื่อนร่วมศึกอัญเชิญให้เข้าซังเตนั้น ก็น่าแปลกที่เขายังใช้ชีวิตแบบไม่ค่อยรู้ร้อนรู้หนาว จนแม้คืนสุดท้ายก่อนจะถูกตัดศีรษะนั้น เขาก็ยังคงนอนหลับสบาย แถมเปิดบานประตูห้องขังอ้าเอาไว้ด้วย เพราะคุกนี้มีผู้คุมแน่นหนาดีอยู่แล้ว ซึ่งนั่นกลับเป็นสิ่งดีสำหรับเขา เพราะก่อนการประหารผู้คุมจะใช้ชอล์กขีดทำเครื่องหมายไว้หน้าประตูของคนโทษที่ชะตาขาดในวันรุ่งขึ้น ดังนั้นการที่เพน หลับไปโดยเปิดประตูอ้าออกข้างนอกไว้ จึงทำให้ผู้คุมขีดเครื่องหมายผิดด้าน เวลางับประตูเข้ามาจึงไม่มีใครเห็นเครื่องหมายประหาร ยังผลให้เพนรอดตายมาได้ในชั่วข้ามคืน ผ่านการนอนหลับยาวจนผ่านมฤตยูมาได้นี่เอง

วิลเลียม เอช. ซวด (William H. Seward) เลขาธิการแห่งชาติสหรัฐฯ ในสมัยนั้นซึ่งเทียบเท่ากับรัฐมนตรีว่า การกระทรวงการต่างประเทศ ท่านซวดถือเป็นคนดังอีกคนในคณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ผลงานที่สำคัญคือการรวมอลาสกาเข้ามาเป็นอีกรัฐของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่รู้กันต่อมาว่าเป็นดินแดนแห่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมคือ น้ำมันดิบ
...
ทีนี้กลับมาที่เรื่องเฉียดตายของท่านซวด ก็คือเหตุลอบสังหารที่ถูกบัญชาโดยนายวิลค์ บูธ ที่ลอบยิงประธานาธิบดีเอง โดยนายบูธได้จ้างมือสังหารให้ทำงานเป็นทีมในการฆ่าบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลของลินคอล์น อันได้แก่ รองประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน และนายวิลเลียม ซวดนี้ เป็นต้น

ซึ่งแผนการสังหารท่านเลขาธิการแห่งชาตินี้ มีผู้รับผิดชอบเป็นเด็กหนุ่มนามลุยส์ พาวเวล ที่ได้ปลอมตัวเป็นเด็กส่งของจากร้านขายยานำโอสถมาส่งให้ถึงหน้าบ้าน ด้วยก่อนหน้านี้ท่านซวดได้ประสบอุปัทวเหตุค่อนข้างหนักถึงขั้นกรามแตกขณะโดยสารรถม้า ดังนั้น เมื่อสบโอกาสพาวเวลจึงเข้าถึงหน้าบ้านแล้วควักปืนขึ้นมาจ่อยิงทันทีที่ประตูเปิด ทว่าเดชะบุญที่ปืนนั้นไม่ลั่น และคนที่เปิดไม่ใช่ท่านซวด แต่เป็นบุตรชายนามเฟรเดริก ซึ่งยังไม่ทันถึงฆาต
เมื่อเห็นว่าเสียแผนดังนั้นแล้ว นายพาวเวลจึงเปิดแผนก๊อกสอง งัดมีดเล่มใหญ่คมกริบขึ้นมาแล้วพุ่งตรงเข้าไปในบ้าน แทงผู้คนไม่เลือกหน้าทั้งคนใช้และตัวนายซวดเองก็ถูกแทงเข้าไปแผลสองแผลเช่นกันที่บริเวณคอเสียด้วย แต่โชคเข้าข้างอีกครั้งที่มีดนั้นไม่สามารถทะลวงผ่านเฝือกอ่อนที่มัดไว้บริเวณคอได้ จึงรอดตายอย่างหวุดหวิด ผิดกับท่านหัวหน้ารัฐบาลที่ถูกลอบสังหารอย่างโหดร้ายในโรงละครฟอร์ดเธียเตอร์

ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) เคยลองคิดเล่นๆว่า ถ้าเคนเนดีไม่ถูกลอบสังหาร ก็คงจะมีสิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นกับโลกอีกมาก ซึ่งท่านอดีตประธานาธิบดีในยุคสงครามเย็นท่านนี้เคยเกือบตายมาเสียก่อนได้เป็นประธานาธิบดีนับสิบปี ด้วยเหตุที่ท่านเข้าร่วมรบในมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ในแถบทะเลแปซิฟิกใต้ ในฐานะผู้บังคับหน่วย คุมทหารบนเรือตรวจการณ์ตอร์ปิโด PT-109 ซึ่งในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่พร้อมกับลูกน้องบนเรือนั้นก็ได้ถูกลูกระเบิดจากญี่ปุ่นโจมตีจนเรือตอร์ปิโดแตกกลางลำ นายทหารหนุ่มเคนเนดีและลูกน้องที่รอดชีวิตอีก 2 คนต้องหนีเอาชีวิตรอด โดยจะว่ายไปไกลก็ลำบากเพราะบริเวณคุ้งน้ำแถวนั้นกลายเป็นสมรภูมิระเบิดลงอย่างหนัก แต่ที่แย่กว่านั้นคือจุดที่เรือของเคนเนดีล่มเป็นที่ที่มีฉลามและจระเข้น้ำเค็มอยู่อย่างชุกชุมเสียด้วย ซ้ำเกาะต่างๆที่อยู่ในบริเวณรายรอบรัศมี 30 กิโลเมตรนั้นก็มีทหารญี่ปุ่นประจำการอยู่แทบทุกหนแห่ง
สถานการณ์ดูเลวร้ายสำหรับนายทหารหนุ่มที่เพิ่งรอดตายมาหมาดๆ แต่นั่นก็ไม่ทำให้เคนเนดีสิ้นหวัง เขานำพาลูกน้องที่บาดเจ็บลากกันว่ายน้ำกว่า 4 กิโลเมตรจนขึ้นบกบนเกาะที่ปลอดภัยได้ เมื่อถึงเกาะแล้วก็ต้องยังชีพด้วยมะพร้าวที่พอหาได้บนเกาะ โดยต้องใช้เวลาอีกถึง 6 วันบนเกาะกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ โดยระหว่างนั้นเขายังต้องผจญกับชาวเกาะท้องถิ่นของหมู่เกาะโซโลมอนที่เป็นศัตรูกับผู้มาเยือนเป็นอย่างยิ่ง แต่ด้วยความสามารถของเคนเนดี ทำให้เขาเจรจาสำเร็จและยังส่งสารขอความช่วยเหลือไปยังกองกำลังสัมพันธมิตรได้โดยผ่านกาบมะพร้าวลูกหนึ่ง ซึ่งเป็นของที่ช่วยชีวิตเขาเอาไว้จนได้เป็นประธานาธิบดีในเวลาต่อมา

เรื่องของความเป็นและความตายนั้น บางทีก็มีเส้นบางๆกั้นเอาไว้ ซึ่งถ้าคนที่ไม่ถึงคราวเคราะห์ก็จะไม่มีทางก้าวล้ำเส้นสู่มรณะได้ดังที่คนไทยเรามีคำกล่าวว่า ไม่ถึงที่ตายไม่วายชีวาวาตม์ ซึ่งถ้าดูให้ดีนั้นจะเห็นว่าการรอดจากความตายของใครๆก็ตาม ล้วนแต่มีความเผอิญอันน่าแปลกมาประจวบเหมาะกันอยู่ หรือกล่าวง่ายๆว่าดูราวกับเหตุบังเอิญ แต่ไม่ใช่ ด้วยมีเหตุหลายอย่างมาจำเพาะเกิดแก่กัน
มันจึงสร้างให้ชีวิตคนเรามีสีสันดังนี้แล.
โดย :นพ.กฤษดา ศิรามพุช
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน