ปัจจุบันนี้ที่เทคโนโลยีก้าวไกลสุดกู่

การปล่อยอาวุธไประเบิดถล่มศัตรูที่อยู่ห่างไกลหลายร้อยหลายพันกิโลเมตรนั้นเป็นเรื่องง่ายดาย ซึ่งในอดีตอาวุธปล่อยหรือที่เรียกกันว่า ขีปนาวุธ (missile) นั้นก็เคยมีกระทำกัน เพียงแต่ว่าส่งลอยคว้างไปได้ไม่ไกลนัก หรือดีกว่าขว้างด้วยมือนิดนึง 555

อาวุธที่ทรงอานุภาพ (ในสมัยนั้น) อย่างหนึ่งได้แก่ คันศรยักษ์ (ballista) ของกรีกและโรมัน หน้าตาเหมือนกับคันศรมหึมาที่ตั้งอยู่บนแท่น สามารถยิงลูกศรใหญ่ยาวหนัก 2 กิโลกรัม ให้พุ่งลิ่วไปในนภากาศได้ไกลลิบถึง 500 เมตร

เช่นว่าในปี ค.ศ.537 ฝ่ายโรมันได้ใช้ “บัลลิสติก” นี้ยิงไปเสียบแม่ทัพฝ่ายโกธิก (Gothic) ตรึงติดร่างไว้กับต้นไม้ม้วยมรณา หรืออีก 300 ปีต่อมา เมื่อกรุงปารีสถูกโจมตีโดยนักรบไวกิ้งสุดโหด ฝ่ายฝรั่งเศสก็ใช้ธนูยักษ์แบบนี้ ยิงพุ่งไปเสียบเหล่านักรบนอร์สสามคนติดเรียงกันไปเลยด้วยศรยาวดอกเดียว

ควบคู่ไปกับบัลลิสติกก็คือ คาตาพัลต์ (catapult) หรือปืนครก (mortar) ที่เราเรียกกันสมัยนี้ เพราะเป็นอาวุธลอยฟ้าในแบบลูกโด่งให้ตกลงมาโดนหัวศัตรู ลักษณะของคาตาพัลต์จะเป็นคานกระดก โดยปลายแขนข้างหนึ่งจะมีอ่างติดไว้สำหรับใส่กระสุนที่เป็นหินลูกกลมๆแล้วโยงไว้ด้วยเชือกซึ่งฟั่นเกลียวจากเส้นเอ็นสัตว์ เมื่อปล่อยเชือกเอ็นที่ขึงไว้ แขนคันกระสุนก็จะดีดขึ้น ตวัดไปปะทะกับราวไม้ที่ขวางอยู่ กระสุนหินก็จะพุ่งหลุดจากอ่างและปลิวหวือขึ้นไปกลางอากาศไกลถึงครึ่งกิโลเมตร แล้วตกใส่กองทัพข้าศึก

คันศรยักษ์ (ballista)
คันศรยักษ์ (ballista)

...

ขีปนาวุธโบราณทั้งสองชนิดนี้ ใช้กันอยู่นานจนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 12 ซึ่งสมัยนั้นการใช้เส้นเอ็นสัตว์เลิกราไป มีการใช้เส้นเชือกจากเปลือกไม้แทนกันแล้ว อาวุธใหม่นี้นำมาใช้กันในสงครามครูเสด เรียกกันว่า “เทรบูเชต” (trebuchet) ก็เป็นเครื่องดีดกระสุนเช่นกัน ทว่าไม่ได้อาศัยความตึงของเส้นเอ็น แต่เป็นคานกระดกสองแขน แขนหนึ่งวางกระสุนไว้ อีกแขนหนึ่งมีตุ้มน้ำหนักถ่วง เมื่อทิ้งแขนตุ้มน้ำหนักลง แขนอีกข้างก็กระดกขึ้นและดีดลูกกระสุนออกไป ซึ่งเครื่องดีดบางอันมีขนาดใหญ่ยักษ์ แขนดีดนั้นยาวเกือบ 20 เมตร และใช้น้ำหนักถ่วงถึง 10 ตัน สามารถดีดกระสุนหนัก 120 กิโลกรัมให้ปลิวไปได้ไกลกว่าครึ่งกิโลเมตรนั่นเทียว

แล้วเครื่องดีดนี้ก็มิได้ใช้แต่ลูกเหล็กเป็นกระสุน หากทว่ามีการสรรหาสรรพสิ่งต่างๆ มาใช้ยิงตามแต่สถานการณ์ เช่น นำเอาลูกไฟที่คิดประดิษฐ์ขึ้นตั้งแต่สมัยกรีก ซึ่งผลิตขึ้นจากสารผสมระหว่างกำมะถัน น้ำมันดิน ยางสน สารแนปธา (naptha-ปิโตรเลียม) จนเป็นก้อนสารไวไฟเมื่อเพิ่มถ่านกับดินประสิวเข้าไป จัดเป็นอาวุธที่น่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่งในสมัยยุคกลาง (Middle Age) และยิ่งถ้าเอาน้ำมาดับไฟที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งกลายเป็นลุกลามมากขึ้นไปอีก สูตรลูกระเบิดไฟนี้เก็บเป็นความลับไว้ได้นานหลายร้อยปี รู้แต่เฉพาะชนไบเซนไทน์ (Byzantine) เท่านั้น ทำให้ทัพไบเซนไทน์มีพลานุภาพยิ่ง จวบจนระหว่างการศึกในศตวรรษที่ 9 ฝ่ายอาหรับจึงได้ล่วงรู้สูตร แล้วก็เลยประดิษฐ์ขึ้นมาโต้ตอบกับไบเซนไทน์ กลายเป็นการรบเหนือน่านฟ้าเช่นเดียวกับทุกวันนี้ ที่ใครมีอำนาจเหนือนภากาศก็จะเป็นฝ่ายได้เปรียบ

คาตาพัลต์ (catapult)
คาตาพัลต์ (catapult)

แต่กระสุนที่น่าพรั่นพรึงยิ่งกว่าลูกไฟก็คือ ร่างมนุษย์ มีทั้งที่เป็นซากศพเน่าเหม็นกับทั้งที่ยังเป็นๆ มีลมหายใจซึ่งก็คือ พวกนักโทษประหารทั้งหลาย แม้กระทั่งประดาสัตว์ตาย เช่น ซากม้าศึก ฝ่ายโจมตีจะเก็บเอามายิงข้ามกำแพงเมือง เข้าไปตกกลางชุมชนบ้านเรือน สร้างความโกลาหลอลหม่านให้แก่ชาวเมือง เพราะนอกจากกลิ่นเน่าเหม็นและสกปรกเลอะเทอะแล้ว ยังอาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายอีกด้วย สุดหฤโหดจริงๆ สำหรับกระสุนชีวภาพเหล่านี้

เมื่อพูดถึงอาวุธชีวภาพแล้วก็เลยขอยกเอากรณีต่างๆในอดีต ที่มีการนำเอาอาวุธชีวภาพมาใช้กันอย่างเอิกเกริกดังนี้

เริ่มแรกสุด ได้แก่ การศึกเมื่อครั้งสมัย 600 ปีก่อน ค.ศ. โดยทหารแอสไซเรียน (Assyrian) ได้เอาข้าวไรย์ ที่ขึ้นเชื้อราไปใส่ในแหล่งน้ำกินของข้าศึก เมื่อฝ่ายนั้นดื่มกินเข้าไปก็เกิดอาการเจ็บป่วยกันระเนนระนาด เปิดโอกาสให้ทัพแอสไซเรียนบุกเข้าโจมตีอย่างง่ายดาย ไร้การต่อต้าน แท็กติกแบบเดียวกันนี้ยังถูกนำเอามาใช้โดยโซลอน (Solon) ผู้นำของเอเธนส์ ในช่วง 638-558 ปีก่อน ค.ศ. คือในการศึกที่เมืองท่าเซอร์รา โซลอนได้สั่งให้ทหารเอากะหล่ำปลีเน่าๆไปทุ่มเทใส่ในบ่อน้ำของชาวเมืองจนไม่อาจใช้ดื่มกินได้ต้องยอมพ่ายแพ้ไปในที่สุด มาถึงปี ค.ศ.1346 ซึ่งกำลังมีการระบาดของกาฬโรคอย่างกว้างขวางในยุโรป ทัพตาด (Tarter) จากไซบีเรีย ซึ่งบุกไปโจมตีเมืองท่าแคฟฟา บนฝั่งทะเลแหลมไครเมีย ทางตอนใต้ของรัสเซีย กองทัพตาดเองนั้นก็โดนโรคระบาดเล่นงานเอางอมพระรามเหมือนกัน จึงถือโอกาสเอาศพของพรรคพวกตนเองยิงข้ามกำแพงเมืองแคฟฟาเข้าไป เป็นการแพร่กระจายโรคร้ายให้แก่ชาวเมืองอย่างสุดหฤโหด

เทรบูเชต (trebuchet)
เทรบูเชต (trebuchet)

...

และมาถึงปี ค.ศ.1422 เมื่อกองทัพลิทัวเนีย (Lithuania) ยกไปล้อมเมืองคารอลสไตน์ (Carolstein) ของโบฮีเมีย ทหารลิทัวเนียได้สังหารหมู่ข้าศึกแล้วเอาซากศพยิงด้วยเครื่องดีดข้ามกำแพงเข้าไปในเมือง เท่านี้ยังไม่พอ ยังรวบรวมเอาอุจจาระและมูลสัตว์ต่างๆมากมายถึง 2,000 เล่มเกวียน ยิงกระหน่ำข้ามกำแพงเสริมเข้าไปด้วย คิดดูละกันว่า เมืองจะเน่าเหม็นเพียงใด เมื่อทนความสุดแสนสกปรกโสโครกไม่ไหว ก็ต้องยอมแพ้อยู่ดี

ว่ากันว่า เครื่องดีดกระสุนนั้นถูกนำเอามาใช้อย่างได้ผลเป็นครั้งสุดท้ายในศึกที่เกาะโรดส์ (Rhods) เมื่อปี ค.ศ.1480 เรื่องราวเป็นดังนี้

หลังจากคริสต์ศาสนาเฟื่องฟูในยุโรป นครเยรูซาเล็มและเมืองศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในดินแดนปาเลสไตน์ก็กลายเป็นที่จาริกแสวงบุญของเหล่าคริสต์ศาสนิกชนทั่วยุโรป แต่การเดินทางไปยังดินแดนดังกล่าวนั้นมีระยะทางไกลมาก กว่าจะไปถึงเยรูซาเล็มต่างก็พากันล้มป่วย หรือเหนื่อยล้าสิ้นเรี่ยวแรง ยิ่งกว่านั้นที่สำคัญคือ ถูกกองโจรเร่ร่อนเผ่าเบดูอินปล้นตีชิงทรัพย์สิน ดังนั้น บรรดาพ่อค้าชาวอิตาลีจึงได้สร้างโบสถ์และที่พักไว้ตามเมืองศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ผู้แสวงบุญได้พำนักและหลบภัย ทั้งยังได้ตั้งกองกำลังเรียกว่า อัศวินผู้พิทักษ์ (Knight of the Hospitallers) ไว้รักษาการณ์ด้วย และหนึ่งในเมืองที่มีผู้พิทักษ์ดังกล่าวก็ได้แก่ เกาะโรดส์ของกรีซ

ปืนครกโบราณ.
ปืนครกโบราณ.

เดือนพฤษภาคม 1480 กองทัพเรือของอาณาจักรออตโตมาน (Ottoman) ยกกำลังพล 70,000 คน ลงเรือ 160 ลำ บุกมาโจมตีโรดส์ทางอ่าวเทรียนดา ภายใต้การควบคุมของแม่ทัพนาม เมซิห์ ปาชา (Mesih Pasha) ส่วนฝ่ายอัศวินผู้ตั้งรับนั้น มีปิแอร์ ดาอุบัสสัน (Pierre d'Aubusson) เป็นผู้บัญชาการ

ทัพตุรกีนั้นได้นำเอาปืนครก ซึ่งยิงด้วยดินปืนติดมาด้วย และได้ระดมโจมตีบอมบ์เข้าไปในเมืองอย่างไม่หยุดยั้ง อย่างไรก็ตาม ปืนครกนั้นใช้กระสุนเหล็กหนักและลอยอยู่นานกว่าจะไปตกในเมือง ฝ่ายทหารรักษาเมืองจึงสังเกตเห็นวิถีโค้งของกระสุนที่ลอยมาได้ง่ายและสามารถร้องเตือนผู้คนให้ระวังจุดที่กระสุนตกได้ ส่วนการตอบโต้นั้น ดาอุบัสสันได้บัญชาให้สร้างเครื่องดีดกระสุน “เทรบูเชต” ยิงต่อสู้พร้อมทั้งขุดสนาม เพลาะกันกระสุนกับป้อมค่ายไว้ภายในกำแพงเมืองด้วย ฝ่ายออตโตมานตุรกีแม้จะมีอาวุธหนักระดมยิงอย่างดุเดือด ทว่าก็ไม่สามารถทำอะไรฝ่ายอิตาลีได้ กลับโดนกองกำลังพิทักษ์เมืองสู้ยิบตาและกลายเป็นฝ่ายบุกตะลุยเข้าไปจนถึงกระโจมที่พักของแม่ทัพฝ่ายตุรกี คาดว่าการศึกในวันเดียวนี้ ทหารตุรกีเสียชีวิตไปราว 4,000 คน และทัพเรือออตโตมานก็ถอนกำลังกลับไปอย่างยับเยิน

นับว่าการศึกครั้งนี้อาวุธโบราณสามารถเอาชนะอาวุธพัฒนาใหม่ได้

ทหารมองโกลใช้เทรบูเชตโจมตีเมือง.
ทหารมองโกลใช้เทรบูเชตโจมตีเมือง.

...

แต่เมื่อมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อาวุธปืนครกอันเทอะทะก็สามารถใช้การได้ดีขึ้น ยิงได้แม่นยำขึ้น

อีก 40 ปีต่อมา คือระหว่างช่วง ค.ศ.1521-1522 เมื่อออตโตมานกลับมาบุกเกาะโรดส์อีกครั้งหนึ่ง หนนี้ก็สามารถยึดเมืองท่านี้ได้สำเร็จในที่สุด.

ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน
โดย :อุดร จารุรัตน์