10-15% ของคนทั่วไปมีอาการท้องผูกเป็นปกติ แต่สำหรับในคนไทย จากการศึกษาพบว่าประมาณ 24% ของคนไทยมีปัญหาท้องผูก โดยคนทุกคนจะมีประสบการณ์ท้องผูกอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงชีวิต

โดยทั่วไป อาการท้องผูกมักพบบ่อยในผู้สูงอายุ แต่จะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบว่า ผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มากกว่าคนที่ไม่มีอาการท้องผูก

อาการแบบไหนถึงเรียกว่า ท้องผูก อ.ดร.วาลุกา พลายงาม วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลว่า ไม่มี นิยามชัดเจนสำหรับอาการนี้ งานวิจัยของ Nao และคณะ อธิบายว่า ภาวะท้องผูก หมายถึง การที่ลำไส้ไม่มีการขยับและบีบตัวติดต่อกันอย่างน้อย 3-4 วันขึ้นไป โดยอาการท้องผูกคือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถขับอุจจาระได้อย่างง่ายและสม่ำเสมอ

“เมื่อไหร่ก็ตามที่ความถี่ของการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับมีอาการถ่ายอุจจาระลำบาก ต้องใช้เวลาเบ่งนานกว่าปกติ รู้สึกว่าถ่ายไม่ออกเนื่องจากมีสิ่งอุดกั้นบริเวณทวารหนัก อุจจาระเป็นก้อนแข็ง และรู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด นั่นละ หมายถึงกำลังมีอาการท้องผูกแล้ว” ดร.วาลุกาบอกและว่า ส่วนสาเหตุที่พบอาการนี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เพราะระยะเวลาการย่อยอาหารในลำไส้ใหญ่และการขับถ่ายกากอาหารที่เหลือค้างในลำไส้ใหญ่ของผู้หญิงจะนานกว่าเมื่อเทียบกับผู้ชาย

...

ส่วนสาเหตุของอาการท้องผูกนั้น เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น พฤติกรรมการกินที่เร่งรีบ การเคี้ยวอาหารที่ไม่ละเอียด การรับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผักและผลไม้น้อย ดื่มน้ำน้อย การรับประทานยาบางชนิด หรือแม้แต่ในผู้ที่มีความเครียดสูง เพราะความเครียดทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ทำงานผิดปกติ สังเกตได้ง่ายๆเลยว่า คนที่ทำงานกับภาวะเครียดเป็นประจำมักเป็นโรคท้องผูกมากกว่าคนที่ไม่มีความเครียดและมักเป็นแบบเรื้อรัง นอกจากนี้วิถีชีวิตที่เร่งรีบบางครั้งทำให้ต้องกลั้นอุจจาระบ่อยๆ ไม่มีเวลาขับถ่าย และขับถ่ายอุจจาระไม่เป็นเวลา ก็ทำให้กลายเป็นโรคท้องผูกเรื้อรังได้

นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น รับประทานอาหารที่มีกากหรือใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช เพื่อทำให้อุจจาระนุ่มขึ้น ขับถ่ายง่ายขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารพวก ครีม เนย หรือของมันทอด ซึ่ง เป็นอาหารที่ไม่มีใยอาหาร ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน รวมถึงออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ลำไส้บีบตัวได้ดีขึ้นแล้ว ในร่างกายเอง ก็มีตัวช่วยที่สำคัญ นั่นก็คือ “จุลินทรีย์ประจำถิ่น” (normal flora) ซึ่งอยู่ในระบบทางเดินอาหารและลำไส้ร่วมกับเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ จุลินทรีย์เหล่านี้มีหน้าที่ควบคุมและรักษาสมดุลภายในระบบทางเดินอาหาร ป้องกันไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนของเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

แต่การไม่เพิ่มจำนวนของเชื้อจุลินทรีย์ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ ต้องมีการเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วย เพื่อทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง รักษาสมดุลในระบบลำไส้ มีงานวิจัยทางการ แพทย์ระบุว่า จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายจะช่วยป้องกันเซลล์เยื่อผนังลำไส้ (gut barrier) และช่วยทำให้การซึมผ่านของสารอาหารที่ลำไส้ใหญ่ดีขึ้น สามารถลดภาวะที่ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทส ซึ่งมาจากอาหารประเภทนม ที่เรียกว่า lactose intolerance ได้

มีการศึกษาของ Metchnikoff E ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ.1908 พบว่า ชาวบัลกาเรียเป็นชนชาติที่มี อายุยืน ส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานอาหารจำพวกนมหมักเป็นประจำทุกวัน งานวิจัยชิ้นนี้ ค้นพบว่า จุลินทรีย์แล็คโตบาซิล (lactobacilli) สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้ออหิวาตกโรคหรืออุจจาระร่วงอย่างแรง (Vibrio cholerae) ได้ งานวิจัยชิ้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้มาจนถึงปัจจุบัน

จากการวิจัยนี้พบว่า เชื้อจุลินทรีย์ชนิด lactobacilli สามารถเปลี่ยนน้ำตาลนมเป็นกรดแล็คติก และเชื้อจุลินทรีย์ชนิดนี้ยังสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นที่ใช้สารอาหารจำพวกโปรตีนและไขมัน เป็นอาหาร ที่ทำให้เกิดสารที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้

...

ปัจจุบันมีความสนใจและมีงานวิจัยจำนวน มากที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงของเชื้อแบคทีเรียที่ช่วยรักษาสมดุลในระบบลำไส้กับโรคท้องผูก โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และ ภาวะการเสื่อมสภาพของร่างกายก่อนวัย รวมถึงการศึกษาด้านพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อที่จะช่วยรักษาสมดุลในระบบทางเดินอาหาร

มีการพบจุลินทรีย์สุขภาพ LB81 ที่เรียกว่า แล็คโตบาซิลัส บัลการิคัส (Lactobacillus bulgaricus) ซึ่งเป็นหนึ่งในจุลินทรีย์สุขภาพที่นิยมใส่ในโยเกิร์ต มีข้อมูลงานวิจัยในประเทศญี่ปุ่น ที่ศึกษากลุ่มอาสาสมัครสุขภาพดีและในผู้ที่มีปัญหาท้องผูกเป็นประจำ พบว่าผู้ที่รับประทานโยเกิร์ตมีจุลินทรีย์สุขภาพ LB81 เป็นประจำ มีระบบการถ่ายอุจจาระดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ ลักษณะอุจจาระนุ่มขึ้น ทำให้การขับถ่ายสะดวกขึ้น และกลับมาถ่ายอุจจาระเป็นปกติ โดยเฉพาะงานวิจัยของ Otsu และคณะ ที่ระบุว่า หลังจากรับประทานโยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ LB81 ทั้งรูปแบบเนื้อครีมหรือแบบเหลว ความรู้สึกแน่นท้องและการเกร็งท้อง และความรู้สึกสบายท้องขณะขับถ่ายในผู้ที่ท้องผูกเรื้อรังดีขึ้นมาก ทำให้การขับถ่ายสะดวกขึ้น

สำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำ การรับประทานโยเกิร์ตเพื่อสุขภาพจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยลดภาวะท้องผูกได้ เพราะอาการท้องผูกเรื้อรังอาจนำไปสู่การเกิดโรคในระบบทางเดินอาหารอื่นๆ เช่น ริดสีดวงทวาร รวมทั้งความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้อีกด้วย.