นับตั้งแต่การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นานเกือบ 2 ปี แน่นอนว่า การปรับตัวของเชื้อไวรัสที่เรียกว่า “กลายพันธุ์” ได้มีการพัฒนาไปมาก
เริ่มจากการค้นพบของนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติ ลอส อลาโมส (แอลเอเอ็นแอล) หนึ่งในห้องปฏิบัติการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก สังกัดกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ bioRxiv (ไบโออาร์ไคฟ) คลังเอกสารวิชาการออนไลน์ด้านชีววิทยา ระบุว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งเกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ได้กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อได้ไวขึ้นและกำลังระบาดหนักในสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่ห่างจากการพบเชื้อครั้งแรกเพียง 4 เดือน
หลังจากนั้นไม่นานทีมนักวิจัยของแอลเอเอ็นแอล ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดยุค และมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์จากประเทศอังกฤษ ทำการวิเคราะห์วิจัยลำดับพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาอีกหลายสายพันธุ์ และพบว่ามี 14 สายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์

แน่นอน เวลาผ่านไปเกือบ 2 ปี การกลายพันธุ์น่าจะมีเพิ่มมากขึ้น ในหลายๆประเทศ ร่วมทั้งไทย จึงมีคำถามว่า จนถึงขณะนี้ ในประเทศไทย มีโคโรนาไวรัสระบาดอยู่กี่สายพันธุ์
...
ข้อมูลของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีการระบาดจากโควิด-19 อยู่ 2 สายพันธุ์หลักคือ B.1.36.16 ซึ่งเริ่มระบาดเมื่อต้นปี 2564 คาดว่าเป็นสายพันธุ์ประจำถิ่นไทยโดยเข้ามาแทนสายพันธุ์ A.6 ดั้งเดิมในปี 2563 พบในหลายจังหวัด ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ (asymptomatic)
ส่วนอีกสายพันธุ์ที่กำลังเกิดการระบาดเป็นวงกว้างอยู่ในขณะนี้คือโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ซึ่งเพิ่งเริ่มเข้ามาระบาดในไทยเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 มีการติดต่อได้ง่ายกว่า มีความรุนแรงมากกว่า มีอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงกว่าสายพันธุ์เดิม
แต่ล่าสุด พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์บราซิลในสถานที่กักกัน และพบการระบาดของสายพันธุ์ B.1.6.7 หรือสายพันธุ์อินเดีย ที่แคมป์คนงานหลักสี่ รวมถึงสายพันธุ์ B.1.351 หรือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่จังหวัดนราธิวาส

ทำให้วันนี้อาจกล่าวได้ว่า ไวรัสที่มีการกลายพันธุ์แน่ๆ น่าจะมีอยู่ประมาณ 5 สายพันธุ์คือ
สายพันธุ์ B.1.1.7 (GR,G) หรือสายพันธุ์อังกฤษ
พบครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ ประมาณเดือนกันยายน 2563 แพร่กระจายเป็นวงกว้างในอังกฤษ และอีกกว่า 50 ประเทศ
สายพันธุ์ B.1.351 (GH,G) หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้
พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ ประมาณเดือนธันวาคม 2563 ลักษณะพิเศษ คือ แพร่กระจายง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมราว 50%
สายพันธุ์ P.1 (GR) พบครั้งแรกในประเทศ บราซิล เมื่อเดือนธันวาคม 2563 แพร่เชื้อไวขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 2.5 เท่า หรือราวๆ 25-60%
สายพันธุ์ B.1.617 หรือสายพันธุ์อินเดีย และสายพันธุ์ B.1.618 หรือสายพันธุ์เบงกอล และ สายพันธุ์ B.1.36.16
ด้วยเหตุดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย รวบรวมข้อมูลเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่เข้มแข็ง เพื่อสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อการควบคุมป้องกันโรค การรักษา และการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆในประเทศ

...
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า จากการสุ่มตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อไวรัสซาร์ส-โค-วี-2 (SARS-CoV-2) ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2564 รวมจำนวน 4,185 ราย พบว่า สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) มีการพบมากที่สุดในประเทศไทย จำนวน 3,703 ราย คิดเป็นร้อยละ 88.48 รองลงมาคือ สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จำนวน 348 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.32 สายพันธุ์ดั้งเดิม B.1 (dade G), B.1 (dade GH), B.1.1.1 (dade GR) จำนวน 98 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.34 สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 26 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.62 และสายพันธุ์ B.1.524 จำนวน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.24 ซึ่งข้อมูลต่างๆนี้มีการประสานรายงานไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้ในการควบคุมเฝ้าระวังในพื้นที่ต่อไป
“จากข้อมูลรายงานขององค์กรสาธารณสุขประเทศอังกฤษ (Public Health England) และ WHO พบว่าสายพันธุ์อัลฟา เป็นสายพันธุ์ที่มีการแพร่กระจายง่าย ทำให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม วัคซีนที่ใช้ในประเทศยังสามารถใช้ได้กับสายพันธุ์นี้” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกและว่า ส่วนสายพันธุ์เดลตา พบว่ามีการแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา อย่างไรก็ตามยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อัลฟาแต่อย่างใด วัคซีนที่ใช้ในประเทศยังสามารถใช้ได้กับสายพันธุ์นี้

สายพันธุ์เบตา พบว่ามีการแพร่กระจายได้ช้ากว่าสายพันธุ์อื่น แต่ทำให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 มีการรายงานพบสายพันธุ์เดลตา ในจังหวัดต่างๆ จำนวน 348 ราย พบในกรุงเทพมหานคร 318 ราย อุดรธานี 17 ราย สระบุรี 2 ราย นนทบุรี 2 ราย ขอนแก่น 2 ราย ชัยภูมิ 2 ราย พิษณุโลก 1 ราย ร้อยเอ็ด 1 ราย อุบลราชธานี 1 ราย บุรีรัมย์ 1 ราย และสมุทรสาคร 1 ราย
การรายงานผลการเฝ้าระวังนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานในประเทศ จังหวัด ชุมชน สำหรับเฝ้าระวังติดตามในจังหวัด รวมถึงเป็นข้อมูลในการรักษาโรค และเพื่อให้ประชาชนได้ป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ยังคงมีความสำคัญในการป้องกันโรคนี้เช่นเดิมไม่ว่าจะสายพันธุ์อะไร ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังเดินหน้าเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศร่วมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และพร้อมให้ข้อมูลการเฝ้าระวังกับทุกหน่วย เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติต่อไป.