จับตา 10 อุตสาหกรรมส่งออกไทย สะเทือนหนัก หลัง "โดนัลด์ ทรัมป์" ตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าไทย 36% ส่อกระทบยาว หากรัฐไม่มีการเจรจา

การประกาศตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กางแผนแนวทางการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนมาถึงสินค้าส่งออกของไทยที่มีหลายชนิดส่งไปยังสหรัฐเป็นฐานลูกค้าหลัก ซึ่งไทยจะถูกกำแพงภาษี 36% แต่ถ้าวิเคราะห์ถึง 10 อุตสาหกรรมการผลิตของไทยที่จะได้รับผลกระทบ หลังมีการประกาศเรียกเก็บภาษี และต้องการให้นักลงทุนหันกลับมาตั้งฐานผลิตในสหรัฐอุตสาหกรรมของไทยที่อาจได้รับผลกระทบ 

...

โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ สรุปไว้ถึงช่วงปี 2566-2567 มีสินค้าไทยส่งออกไปสูงสุดดังนี้

1. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
2. อุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์
3. ผลิตภัณฑ์ยาง
4. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล
5. อัญมณีและเครื่องประดับ
6. เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ
7. อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
8. ไก่แปรรูป
9. แผงวงจรไฟฟ้า
10. เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

ยังต้องจับตาว่า รัฐบาลไทยจะดำเนินแผนเจรจาอย่างไร ขณะเดียวกันภาคเอกชนเองก็อาจจะต้องมีแผนสำรอง เพราะหากมีการปล่อยให้ถูกตั้งกำแพงภาษี ในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย และอาจทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตได้

ทางออกไทยผจญกำแพงภาษีอเมริกา

ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผอ.วิจัย Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงผลกระทบจากการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าหลายประเทศ โดยไทยถูกเพิ่มอัตราภาษีที่ 36% ว่า ผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งโลก เพราะทุกประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะถูกคิดภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น 10% ในวันที่ 5 เมษายนนี้

ส่วนประเทศไทยเป็น 1 ใน 60 กว่าประเทศที่ถูกเพิ่มภาษีในอัตราสูงกว่านั้น โดยในเอกสารทางการของสหรัฐ ระบุไว้ที่ 37% ซึ่งอัตราดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 9 เมษายนนี้ อย่างไรก็ตามมีบางประเทศในอาเซียนที่ถูกเก็บภาษีในอัตรามากกว่าไทย เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ส่วนจีนที่ถูกภาษีเพิ่มอีก 34% จากเดิมที่อัตราได้ปรับขึ้น 20% อยู่แล้ว ทำให้จีนถูกเก็บภาษีนำเข้าที่ 54%

ตัวอย่างสินค้าส่งออกของไทยที่จะได้รับผลกระทบหลัก ๆ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงอยู่ใน 20 อันดับแรก ซึ่งคิดเป็น 64% ของการส่งออกไปสหรัฐฯ อย่างเช่น หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ รวมทั้งส่วนประกอบและชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ไทยมีเม็กซิโกเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐฯ

ซึ่งการขึ้นภาษีครั้งนี้ จะทำให้ไทยต้องจ่ายภาษีนำเข้าที่ 38.5% (รวมกับอัตราเดิมจ่าย 1.5%) ในขณะที่เม็กซิโก จ่ายภาษี 25% เท่านั้น นอกจากนี้การขึ้นภาษีดังกล่าว ยังทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอ รวมทั้งคู่ค้าอื่นของไทยด้วย ดังนั้นคาดว่าปีนี้ส่งออกของไทยจะโตอยู่ที่ 1-2% ขณะที่ปีที่ผ่านมาโตที่ 5.4%

...


สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือการประเมินคู่แข่งของไทยที่ผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ว่าถูกขึ้นภาษีมากกว่าหรือน้อยกว่าไทย เพราะนั่นหมายถึงโอกาสในการแข่งขันบนสนามที่มีกติกาใหม่ ซึ่งไทยอาจสามารถส่งสินค้าไปทดแทนสินค้าของประเทศอื่น ๆ ที่ถูกตั้งกำแพงภาษีสูงกว่าไทยได้ เพราะปีแรกของการขึ้นภาษีสหรัฐฯ คงไม่สามารถผลิตสินค้าในประเทศมาทดแทนสินค้าได้ทัน


“เราก็อาจจะมีโอกาสเพิ่มการส่งออกไปสหรัฐฯ ในสินค้าที่คู่แข่งของไทยถูกขึ้นภาษีมากกว่าเรา เช่น จีน 54% เวียดนาม 46% แต่ไทย 36% ดังนั้นเราอาจสามารถแข่งขันในเรื่องราคาได้ เช่น ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ นี่คือโอกาสของไทยในครั้งนี้ ซึ่งเราเห็นได้จากสมัยทรัมป์ 1 ที่หลังจากที่จีนถูกตั้งกำแพงภาษี สหรัฐฯ ก็หันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ไทย เวียดนาม และไต้หวัน แทนสินค้าจากจีนในตอนนั้น”


นอกจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการส่งออกของไทยแล้ว สินค้านำเข้าน่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากทุกประเทศต้องหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะสินค้าจากจีน และสินค้าประเภทเหล็ก


เชื่อว่าสหรัฐฯ ต้องการให้นานาประเทศ รวมทั้งไทยเจรจาเพิ่มเติมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับสหรัฐฯ มากขึ้นกว่าเดิม แลกกับการขอปรับลดอัตราภาษีนำเข้า เพราะในเอกสารของสหรัฐฯ ระบุว่าทุกอย่างปรับเปลี่ยนได้หากมีการเจรจา โดยประเมินว่ามี 3 แนวทางที่ทางสหรัฐฯ ต้องการจากไทย คือ 1. อาจขอให้ไทยลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ โดยสินค้าที่ไทยเรียกเก็บสหรัฐฯ สูงกว่าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากไทยมาก เช่น ไวน์ เบียร์ เนื้อวัว รถยนต์ รวมถึงสินค้าเกษตรหลายชนิด ซึ่งสินค้าเกษตรมีความสำคัญกับประธานาธิบดีทรัมป์ เนื่องจากเกษตรกรเป็นฐานเสียงหลัก

2. อาจขอให้ไทยเพิ่มโควตานำเข้าสินค้าบางประเภทมากขึ้น เช่น ข้าวโพด และกาแฟ ที่ไทยมีการกำหนดโควต้านำเข้า

...

3. อาจขอให้ไทยลดข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานสุขภาพ เช่นให้ไทยอนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ซึ่งไทยกังวลว่ามีสารเร่งเนื้อแดงเกินมาตรฐาน ไทยควรพิจารณาเจรจาเพื่อเปิดตลาดสินค้าที่มีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยน้อยหรือจะส่งผลดีกับผู้บริโภคในไทยในลำดับแรก นอกจากนี้สหรัฐฯ อยากให้ประเทศต่าง ๆ มีการไปลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้นด้วย