เชื่อว่าใครหลายคน เมื่อเห็นข่าว “พะยูน” น้อย เกาะหลังเต่า เสียชีวิต คงต้องรู้สึกเศร้าใจไม่น้อย ยิ่งคนที่ทำงานสายอนุรักษ์ อย่าง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อมและทะเล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ออกมาโพสต์เรื่องเศร้า ว่ามีพะยูน เสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกัน 2 ตัว คือ พะยูนตัวเมียที่พบซากในเดือนกันยายน ก่อนจะพบอีกตัวในเดือนธันวาคม ซึ่งคาดว่า เป็น “แม่” ของ “ดงตาล” พะยูนน้อย ที่พบซากในวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้ อาจารย์ธรณ์ คาดการณ์ไว้แต่แรกแล้วว่าอาจจะไม่รอด

แต่...ก่อนที่ พะยูนน้อย “ดงตาล” จะเสียชีวิต ก็มีคลิป พะยูนน้อย ว่ายน้ำขี่หลังเต่า เป็นภาพประทับใจอวดความน่ารักแก่สายตาชาวโลก

น.ส.ชลาทิพ จันทร์ชมภู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า จากการสังเกตจากลำตัวเชื่อว่า พะยูนน้อย ดงตาล อาจจะมีอายุไม่ถึง 1 ปี เพราะคาดการณ์จากลำตัว น่าจะมีความยาวไม่ถึง 120 ซม. หนักประมาณ 80 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม คงต้องรอให้เจ้าหน้าที่ชันสูตรอย่างละเอียดอีกครั้ง ว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจากอะไรกันแน่ แต่เท่าที่ตรวจสอบตามร่างกายเบื้องต้น ไม่มีบาดแผลรุนแรง 

“ปกติแล้ว ลูกพะยูน อายุไม่ถึง 1 ปี จำเป็นต้องกินนมแม่ แต่ถ้าไม่มีนมแม่ให้กิน ก็สามารถหาหญ้าทะเลกินได้ เพราะดูจากขนาดก็คาดว่าน่าจะไม่ขาดอาหาร อย่างไรก็ตาม หากไม่มีแม่คอยดูแล โอกาสรอดก็จะมีน้อยมาก หากสังเกตดีๆ พฤติกรรมที่น้องว่ายน้ำกับเต่า ก็จะแสดงถึงว่า เขาต้องการความปลอดภัย การสัมผัสจากแม่”

...

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมตรงนี้ ถือเป็นเรื่องปกติ “สัตว์สังคม” ในการแสดงออกในการอยู่ร่วมกัน ทั้งสัตว์ขนาดเล็กและใหญ่ ซึ่งสัตว์เล็กจะแสดง

ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย เผยว่า หากเป็น “พะยูน” ตัวใหญ่ อย่างตัวแม่ ก็ชอบที่จะเล่นกับเต่าเหมือนกัน เพียงแต่ หากเป็นสัตว์เล็กๆ หรือ สัตว์ที่ต้องการความใกล้ชิด อย่างลูกพะยูน เขาจะต้องการมากกว่า อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า พะยูนกับเต่า จะใกล้ชิดกันแบบนี้อยู่แล้ว...

สถานการณ์ “พะยูน” ไทย อันดามัน สดใส อ่าวไทย น่าห่วง

สำหรับ สถานการณ์ “พะยูน” ในประเทศไทย น.ส.ชลาทิพ ให้ข้อมูลว่า มีการคาดการณ์ว่า มี “พะยูน” ในประเทศไทย ประมาณกว่า 280 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่ในทะเลอันดามัน โดยเฉพาะที่ จ.ตรัง ในขณะที่ฝั่งอ่าวไทย เรียกว่ามีน้อยมาก ซึ่งมีโอกาสพบได้ตั้งแต่ จ.ชลบุรี ไปจนถึง จ.ตราด

จากการสำรวจความชัดเจน จำนวนประชากร “พะยูน” นั้น ทำได้ยากมาก เพราะเราไม่ค่อยพบ “พะยูน” ในเชิงประจักษ์ แต่เราก็ศึกษาร่องรอยการกิน “หญ้าทะเล” หรือ เรียกอีกอย่าง “ร่องรอยการดุนหญ้า” ซึ่งความจริงก็สังเกตได้ยาก เพราะนอกจาก “พะยูน” แล้ว ยังมีสัตว์ชนิดอื่น เช่น เต่า หรือ เครื่องมือประมง สมอเรือ แต่รอยกินของ “พะยูน” จะมีเอกลักษณ์ ซึ่งนักวิจัยของกรมประมง จะสามารถแยกแยะได้

แต่จากการประเมิน คาดกันว่าทั้งอ่าวไทย ที่พบ อาจจะไม่เกิน 10 ตัว ซึ่ง 10 ตัวที่ว่า ไม่ได้มีภาพถ่าย หรือ การพบเจอเชิงประจักษ์ แต่เราสำรวจจากการสัมภาษณ์ชาวบ้าน ข้อมูลจากการกินหญ้า

สาเหตุที่ “พะยูน” ในอ่าวไทยมีน้อย เป็นเพราะอะไร ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย บอกว่าเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะ “แหล่งอาหาร” หรือ “หญ้าทะเล”

น.ส.ชลาทิพ กล่าวว่า ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของทะเล ไม่ได้มี “หญ้าทะเล” ที่มีลักษณะเป็นแปลงใหญ่ ยกตัวอย่าง จ.ชลบุรี มีพื้นที่ที่เป็นแหล่งหญ้าไม่ถึง 5,000 ไร่ แถมยังกระจายตัวด้วย พอแหล่งหญ้ากระจายตัว จำเป็นต้องมีการเดินทางในการหากิน ซึ่งแตกต่างจากฝั่งอันดามัน ในพื้นที่ “ลิบง” จ.ตรัง ที่มีแหล่งหญ้าทะเลแปลงใหญ่ ทำให้มีพะยูนอาศัยอยู่บริเวณนั้นเยอะ

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจข้อมูล “หญ้าทะเล” พบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เนื้อที่หญ้าทะเลในพื้นที่อ่าวไทยลดลงเยอะ ประกอบกับการสัมภาษณ์ชาวบ้าน ข้อมูลการพบพะยูน เมื่อ 15 ปีก่อน คาดว่า พะยูนในสมัยนั้น มีมากกว่าปัจจุบัน

...

ทั้งนี้ “พะยูน” สามารถอพยพ เพื่อหาอาหารได้ แต่...เมื่อไหร่ก็ตาม ที่ตัวเมียเริ่มท้องและมีลูก การเดินทางก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย ฉะนั้น พะยูน ตัวเมีย จึงเลือกอาศัยในพื้นที่

เมื่อรวบรวมข้อมูล นักวิจัยทางทะเล จึงคาดการณ์ว่า สาเหตุที่ “พะยูน” ในฝั่งอ่าวไทยลดน้อยลงกว่าในอดีต มาจาก ปัจจัยเรื่อง “อาหาร” ก็คือ “หญ้าทะเล” มีน้อยลง

ทำไม “หญ้าทะเล” ในอ่าวไทย หายไป

น.ส.ชลาทิพ อธิบายให้เห็นภาพ ง่ายๆ คือ “หญ้าทะเล” ก็เหมือนกับ “ต้นไม้” เพียงแต่ไปเจริญเติบโตในทะเล ปัจจัย การเจริญเติบโต ก็ต้องการแสงแดด เป็นสารอาหาร เมื่อใดก็ตาม เมื่อน้ำมีตะกอน ลงไปมาก ก็ส่งผลให้น้ำขุ่น แสงแดดส่องไม่ถึง หญ้าก็ไม่เจริญเติบโต หรือถ้าตะกอนลงไปมากและทับทม ก็อาจทำให้หญ้าทะเลตายได้

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกอย่างมีการเชื่อมโยงถึงกันหมด เมื่อไหร่ก็ตาม เมื่อมีน้ำเสีย หรือแม้แต่น้ำจืด ที่มาจากฝน ลงไปมาก หญ้าทะเลก็จะเจริญเติบโตช้า เพราะเขาต้องการน้ำเค็ม ซึ่งปัจจัยทั้งหมด มาจาก ธรรมชาติ และ มนุษย์ ส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของหญ้าทะเล”

หาก “น้ำมันรั่ว” ลงทะเล หรือ ที่เรียกว่า สถานการณ์ฉุกเฉินฉับพลัน ตัวหญ้าทะเล แม้จะมีสภาพทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ แต่หญ้าทะเล ก็ได้รับ Toxic จากสารพิษไปด้วย และเมื่อสัตว์ทะเลมากินหญ้า ก็จะได้รับสารพิษ และเสียชีวิต ขณะที่ “หญ้าทะเล” ถูก “เคลือบด้วยน้ำมัน มันอาจจะใช้เวลาย่อยสลายและฟื้นตัวขึ้นได้

...

โอกาส “พะยูน” ไม่เหลือใน “อ่าวไทย”

ทีมข่าวฯ ถาม อย่างตรงไปตรงมา ในอนาคตอันใกล้ “พะยูน” มีโอกาสไม่เหลือในอ่าวไทย ได้หรือไม่ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย กล่าวว่า จากการเก็บ “เนื้อเยื่อ” พะยูน ในพื้นที่อันดามัน และอ่าวไทย เพื่อหาความหลากหลายทางพันธุกรรมพบว่า

สัตว์ทะเลในพื้นที่อ่าวไทย มีความหลากหลายทางพันธุกรรม น้อยกว่า อันดามันมาก แสดงให้เห็นว่า เป็นกลุ่มประชากรเล็กมาก เล็กเรียกว่า “เหลือน้อย” จนต้องเร่งจัดการแก้ปัญหา....การที่เหลือกลุ่มน้อยมาก ทำให้โอกาสที่จะมาเจอกันลำบาก และอาจจะไม่ผลิตลูกหลาน

กลับกัน ถึงแม้ฝั่ง “อันดามัน” จะมีพันธุกรรมที่หลากหลาย แต่ก็ยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะบางพันธุกรรม ก็มีที่เดียวในโลก โดยเฉพาะ “พะยูน” ที่ลิบงถือว่าเป็นพะยูน ที่มีความพิเศษ “จำเพาะ”

ขณะที่ อ่าวไทย จำนวนตัวอย่างน้อยมาก...น้อยเหลือเกิน ซึ่งในทางวิชาการก็มีโอกาส “หายไป” จากอ่าวไทย เพราะจากการทำงานมา 15 ปี มีโอกาสเจอพะยูนที่ยังมีชีวิต เพียง 1 ตัว ที่เหลือจากเป็น ซาก ซึ่งเจอก่อนหน้านี้ 1 ตัว ในปี 2565 เจอพะยูนตัวแม่ เป็น ซาก 2 ตัว และตัวล่าสุด

“แม้ “พะยูน” โอกาสหายไป จาก อ่าวไทย แต่ลึกๆ ยังคงมีความหวัง เพราะเราเห็น “ลูก” พะยูน มาจากวิกฤติตรงนี้ และอีกโอกาสที่หวังคือ เราเห็นแหล่งหญ้าทะเลในเขตน้ำลึก”

...

สาเหตุการตายของ “พะยูน” มาจากอะไร

สาเหตุการเสียชีวิตของ “พะยูน” มาจากอะไรบ้าง น.ส.ชลาทิพ ให้ข้อมูลว่ามี 2 สาเหตุหลัก

1.สาเหตุที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ถูกเรือชน ติดเครื่องมือประมง
2.ป่วยตามธรรมชาติ เช่น อายุมาก เกิดโรคต่างๆ อาทิ ติดเชื้อในกระแสเลือด

ยกตัวอย่าง 2 เคสในปี 2565 สภาพมีร่องรอยการบาดเจ็บ ถูกกระแทก

แผนอนุรักษ์ “พะยูน” ในอนาคต

สำหรับแผนในอนาคต น.ส.ชลาทิพ บอกว่า กรมทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง มีแผน “อนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” คือ

1.ศึกษาวิจัยเพิ่มเติม โดยต้องการประเมินประชากร “พะยูน” ให้ชัดเจน
2.ปกป้องดูแลแหล่งอาหาร ที่ผ่านมา “หญ้าทะเล” ยังไม่ถูกคุ้มครองเหมือนปะการัง ฉะนั้น จึงมีแนวคิดในการขับเคลื่อนในการปกป้องดูแลแหล่งหญ้า
3.การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในการสำรวจ
4.ขับเคลื่อนเรื่องการประชาสัมพันธ์ในการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน โดยจะขับเคลื่อน 13 แหล่งที่มีการพบพะยูน รวมถึงการสร้างศูนย์เรียนรู้พะยูน

“ที่ผ่านมา ทางกรม พยายามขับเคลื่อนแผนต่างๆ โดยไม่ให้กระทบกับวิถีชาวบ้านและชุมชน โดยเน้นให้ทุกคนร่วมกันอนุรักษ์พะยูน”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ