คงปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า สังคมไทย มีหลายเรื่องที่ “ย้อนแย้ง” กับความเป็นจริง ยกตัวอย่างง่ายๆ “สลากกินแบ่งรัฐบาล” เขียนราคาไว้ 80 บาท แต่คนขายจะขายใบเท่าไรก็ได้!?
หรือจะเป็นเรื่อง ที่เกิดขึ้นกับ “นักแสดงสาวชาวไต้หวัน” ที่ถูกจับ ปมการพก “บุหรี่ไฟฟ้า” แต่กลับเห็นมีขายกันเกลื่อนเมือง ทั้งตลาดนัด หรือแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยว จนรู้สึกว่า
เฮ้ย...มันผิดกฎหมายจริงๆ ไหม ชาวบ้านชาวช่องเขาก็สงสัยกัน...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ชวน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มาให้ข้อมูล ทั้งด้านกฎหมาย และ โรคร้ายของบุหรี่ไฟฟ้า ที่เริ่มมีผลวิจัยเกี่ยวกับสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น...
“อยากให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศุลกากร สคบ. ตรวจคนเข้าเมือง และ กระทรวงสาธารณสุข คุยกัน ว่า จะจัดการปัญหาเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้ากับนักท่องเที่ยวอย่างไร แต่ถ้าถามความเห็นผม ผมว่าอย่าไปยุ่งกับเขาเลย...”
ศ.นพ.ประกิต กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ก่อนจะร่ายยาวถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจไทย และ สิ่งที่เกิดขึ้นที่กลายเป็นปัญหาฉาวโฉ่ระดับโลก
...
เจตนารมณ์กฎหมาย นำเข้า จำหน่าย
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า กฎหมายห้ามนำเข้าหรือขาย มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสุขภาพคนที่ไม่ได้สูบ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ส่วนคนสูบอยู่แล้ว เขาไม่ได้สนใจ จะสูบบุหรี่มวน หรือ หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า
หากเราพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า เช่น
- ห้ามนำเข้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 โดยหน่วยงานที่สนับสนุนการบังคับใช้ คือ กรมศุลกากรในการตรวจจับ
- ห้ามขาย ห้ามให้บริการ ตาม คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2558
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า เมื่อพูดถึงคำว่า “ครอบครอง” จากกฎหมายดังกล่าว ยังไม่ได้ระบุความผิด ดังนั้น ในเชิงนัยการครอบครองเพื่อสูบนั้น ยังถือว่า “ไม่ควร” จะมีความผิด คล้ายว่าไม่มีกฎหมายข้อไหนไปจับได้
แต่...ประเด็นปัญหาของนักท่องเที่ยวไทย ที่มีการพกบุหรี่ไฟฟ้า จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี
1.การครอบครองเพื่อสูบ 1-2 ชิ้นก็ตาม
2.การครอบครองเพื่อขาย มากกว่า 10-20 ชิ้น
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ชี้ว่า หากยึด ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 โดยแยกแยะการครอบครองเพื่อสูบ หรือ เพื่อขาย ตามกฎหมาย ก็สามารถดำเนินคดีได้ โดยจำคุก 10 ปี หรือ ปรับ 5 เท่า ตรงนี้เองคือประเด็นปัญหาในเรื่องการใช้ “ดุลพินิจ” บางคนก็ขู่ว่า จะจับเขาเข้าคุก เป็นที่มาของช่องโหว่ในเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์ ถามว่า นักท่องเที่ยวคนไหน อยากมีปัญหา เพราะเขาแค่มาเที่ยว 4-5 วัน แค่โดนจับเข้าคุกไป 1 วัน มีคดีความ เสียเงิน เสียเวลา
“แบบนี้ถือเว่าเป็น การทำเกินกว่าเหตุ หรือไม่ การถือมาเพื่อสูบแล้วโดนแบบนี้เป็นธรรมกับเขาหรือไม่ ใช่ว่าเขา จะขนเข้ามามากมายเพื่อขาย”
หากตำรวจยึดหลัก ตามคำสั่งของ สคบ. ตำรวจเห็นใครขาย ก็สามารถจับได้ทันที คำถามคือ เขาขายกันเต็มบ้านเต็มเมือง ทำไมไม่จับ ในเขตห้วยขวาง หน้ารามฯ สุขุมวิท คลองถม
“ส่วนตัวมองว่าไม่ควรจะไปจับนักท่องเที่ยวเลย เขาพกมา เขาก็สูบของเขา เราจะไปห่วงสุขภาพแทนเขาหรือ..?”
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระบุว่า การที่กฎหมายตัวนี้ออกมาเพราะความห่วงใยสุขภาพของคนไทย และเจตนาของกฎหมาย ก็เพื่อแก้ปัญหาคนที่เอามาขาย เด็กที่เดินไปมา ก็เข้าไปซื้อได้อย่างง่ายดาย ฉะนั้น ประเด็นที่ตำรวจควรจะทำ คือ จับคนขายบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่คนครอบครอง ซึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเปิดร้านขายกันแบบโจ่งแจ้งเลยก็มี...สิ่งที่ทำมันเสียหาย เสียชื่อ และไม่ตอบโจทย์ของกฎหมาย
หากคุณจะดำเนินการกับคนสูบ ก็ควรจะเป็นการสืบเพื่อขยายผลไปถึงคนขาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ ความย้อนแย้ง...
“สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ถือเป็นเรื่องที่ขายหน้าชาวโลก และรับไม่ได้ เพราะเห็นขายกันเกลื่อนไม่ว่าอะไร แต่ฉันมาเที่ยว แล้วฉันพกไว้กลับถูกจับ แล้วมาดำเนินคดีแบบเอาเป็นเอาตาย ซึ่งถือเป็นการเลือกใช้ “ดุลพินิจ” ในทางที่ผิด”
...
ทางออกของเรื่องนี้ไม่ยากเลย ก็แค่ไปจับร้านที่ขาย...เท่านั้น
“กลับกัน หากคุณบอกว่า คุณต้องการเล่นงานคนที่ครอบครองทุกคนในมาตรฐานเดียวกัน คำถาม คือ นักการเมือง ส.ส. ตำรวจ ทหาร หรือแม้แต่คนในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ก็มี คำถามคือ ตามไปจับไหม...? ถ้าแบบนี้เรียกว่า “เลือกปฏิบัติ” หรือไม่...” ศ.นพ.ประกิต ตั้งคำถาม
เมื่อถามว่า ในระดับสากล มีประเทศไหน มีบทลงโทษคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าบ้าง ศ.นพ.ประกิต ระบุว่า เท่าที่ศึกษา ไม่พบว่ามีการลงโทษคนสูบ ยกเว้นกรณีที่สิงคโปร์ ที่มีการจับกุมเพื่อสืบไปจับคนขาย
โรคที่มากับ “บุหรี่ไฟฟ้า” กล้ามเนื้อหัวใจตาย ถุงลมโป่งพอง มะเร็ง
สำหรับปัญหาด้านสุขภาพ ที่มากับ “บุหรี่ไฟฟ้า” เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระบุว่า ในบุหรี่ไฟฟ้า มี “นิโคติน” เหมือนกับบุหรี่ โลหะหนัก สารก่อมะเร็ง สารเคมีที่เป็นพิษอื่นๆ (ปริมาณน้อยกว่าบุหรี่)
ส่วน “น้ำยา” ที่มีกลิ่นหอมจาก “บุหรี่ไฟฟ้า” มาจาก สารเคมีตกแต่งกลิ่นและชนิดต่างๆ มากกว่า 16,000 ชนิด กลิ่นหอมตรงนี้ ถือเป็นตัวร้าย เพราะเป็นสิ่งดึงดูดให้เยาวชนเริ่มสนใจเข้าไปทดลอง
...
เมื่อถามว่า “ควันบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง” อันตรายหรือไม่ ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า อันตรายเช่นกัน ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติกับทางเดินหายใจ คนที่ป่วยหืดหอบ อาจทำให้เกิดอาการ ซึ่งถือว่ามีสารเคมีที่ระคายเคืองต่อหลอดลม เป็นผลให้หลายประเทศประกาศห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะ
บุหรี่ไฟฟ้า ควันเยอะ กับ ไร้ควัน อันตราย ต่างกันหรือไม่ ศ.นพ.ประกิต ให้ข้อมูลว่า...
ควันเยอะ : บุหรี่ไฟฟ้าชนิดน้ำ เชื่อว่ามีอันตรายในระยะยาว
ควันน้อย : บุหรี่ไฟฟ้าใช้ความร้อน หรือ ชนิดแห้ง ใช้ใบยามาบด ทำเป็นผง โดยมีการใส่สารเคมี แล้วมวนเป็นบุหรี่มวนเล็ก และใส่ไอคอส โดยบุหรี่ไฟฟ้าชนิดนี้ องค์การอนามัยโลกสรุปแล้วว่า พิษภัยไม่แตกต่างจากการสูบบุหรี่
ฉะนั้น สิ่งที่องค์การอนามัยโลก สรุป คือ ห้ามบอกว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่า
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ยังเปรียบเทียบอันตรายระหว่าง บุหรี่ กับ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้ เพราะ องค์การอนามัยโลก ไม่ได้ยอมรับว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” มีอันตรายน้อยกว่า เพราะ เพิ่งจะเริ่มใช้มา 10 ปี ฉะนั้น กว่าที่เราจะรู้ว่าบุหรี่อันตรายแค่ไหน ต้องใช้งานต่อเนื่อง 20-30 ปี
...
“ความจริง เราต้องใช้เวลาเรียนรู้บุหรี่ไฟฟ้า ถึง 40 ปี เพราะจากศึกษา คนที่สูบบุหรี่ พบว่า หากสูบตั้งแต่อายุ 18 ปี ต่อเนื่อง จะเริ่มป่วยเป็นโรคหัวใจ ตอนอายุ 40 ปีขึ้นไป จะเริ่มป่วยเป็นมะเร็ง อายุ 50 ปี และ ป่วยถุงลมโป่งพองในอายุ 60 ปี ขึ้นไป ฉะนั้น การเรียนรู้เกี่ยวกับบุหรี่ ต้องใช้เวลาสูบกันยาวนาน ถึงจะเห็นผล แต่บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งเริ่มใช้งานไม่กี่ปี”
แต่....จากการทดลองบุหรี่ไฟฟ้ากับหนู เป็นเวลา 1 ปี เราเริ่มพบว่าหนูทดลองเริ่มมีอาการป่วยหลายโรค อาทิ กล้ามเนื้อหัวใจตาย ถุงลมโป่งพอง
มีหนูจำนวน 9 จาก 40 ตัว เริ่มเป็นมะเร็งปอด
มีหนูจำนวน 22 ตัว จาก 40 ตัว เริ่มเป็นมะเร็งระยะแรก
ฉะนั้น สิ่งที่สะท้อนออกมาจากบุหรี่ไฟฟ้า ไม่แตกต่างจาก บุหรี่มวนเลย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ