ภาวะการซื้อขายหุ้น

ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงตามแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานและธนาคาร โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,569.44 ลดลง 0.34% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงประมาณ 15.59% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 35,524.67 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 558.94 จุด ลดลง 1.20% จากสัปดาห์ก่อน ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นช่วงสั้นๆ ในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางตลาดต่างประเทศ ก่อนจะทยอยลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางบรรยากาศการซื้อขายในเชิงลบจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี ประกอบกับมีแรงกดดันในหุ้นกลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคารก่อนการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2

สำหรับแนวโน้มสัปดาห์นี้ (10-14 ก.ค.) บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,555 และ 1,545 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,580 และ 1,590 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคงได้แก่ สัญญาณดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ช่วงต้น) เดือน ก.ค. ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มิ.ย. รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือน มิ.ย.ของจีน

...

ภาวะตลาดเงินและอัตราแลกเปลี่ยน

เงินบาททยอยอ่อนค่าลงตลอดสัปดาห์ โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลง สวนทางกับเงินดอลลาร์ฯที่มีปัจจัยบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (อาทิ ดัชนี ISM ภาคการผลิต และภาคบริการ) ที่ออกมาดีกว่าที่คาด และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่นักลงทุนน่าจะทยอยเข้าซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงท้ายๆสัปดาห์ ก็เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน โดยค่าเงินบาทปิดตลาดเมื่อวันที่
7 ก.ค. ที่ 34.08 บาทต่อดอลลาร์ฯ

สำหรับแนวโน้มสัปดาห์นี้ (10-14 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.00-34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่สัญญาณเกี่ยวกับจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยและการลดงบดุลจากถ้อยแถลงของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ (ช่วงต้น) เดือน ก.ค. ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังผลิตเดือน มิ.ย. และสต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือน พ.ค. นอกจากนี้ ตลาดน่าจะรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือน มิ.ย.ของจีนด้วยเช่นกัน.

บ.ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด