วันนี้ “ภาคการเกษตรไทย” มีสัญญาณที่ดีขึ้นด้วยปัจจัยภายในและภายนอกบ่งชี้ว่าเป็นอย่างนั้น จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) บอกว่า หนึ่ง...เรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศ ปริมาณน้ำฝน น้ำในเขื่อนที่สำคัญของประเทศไทย

“ภาคเกษตรอาศัยน้ำ...พื้นที่ 149 ล้านไร่เป็นพื้นที่เปิด สภาพดินฟ้าอากาศ ปริมาณน้ำฝนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในช่วง 6 เดือนแรกสูงกว่าปีที่ผ่านมา และปริมาณน้ำฝนกระจายตัวอยู่มากกว่าค่าเฉลี่ยปีที่แล้ว”

สอง...ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนขนาดใหญ่ 34 แห่งของประเทศ ปีนี้มีน้ำใช้การได้มากกว่าเกือบเท่าตัว นี่คือสัญญาณดีจากธรรมชาติ สภาพดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวยกับการผลิตการเกษตร

ประเด็นสำคัญถัดมา...สัญญาณเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก ต่างประเทศ กลุ่มประเทศอาเซียนคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย จีน อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ก็มีอัตราการขยายตัวค่อนข้างเพิ่มขึ้น

จริยา ย้ำว่า ปีที่แล้วขยาย 3.3 เปอร์เซ็นต์...ก็ขยับในปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.5 เปอร์เซ็นต์ ตลาดข้างต้นต้องการสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภค เป็นทั้งอาหาร ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

“ประชากรโลกเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะเติบโตขึ้นเล็กน้อยหรือใกล้เคียงกว่าเดิม แต่ปริมาณจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นนั้นมีมาก...เนื่องจากนโยบายรัฐบาลกับต่างประเทศมีการเจรจา ประชุมต่างๆ ทำให้ข้อติดขัดเรื่องกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆถูกแก้ไข ปรับปรุง ทำให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยมากขึ้น เช่น เกาหลีใต้ไม่เคยนำเข้าไก่จากไทยมาตั้งแต่เมื่อครั้งไข้หวัดนกระบาด กว่า 10 ปีมาแล้ว ตอนนี้ก็มีการนำเข้า มีการเปิดตลาดมากขึ้น”

ปัจจัยทั้งหมดข้างต้นสะท้อนสัญญาณดี “เกษตรไทย” ในอนาคต บวกกับนโยบายรัฐที่แก้ปัญหาภายใน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.คอนแทรคฟาร์มมิ่งที่คลอดแล้ว และในหลายๆเรื่องที่ดินทำกินที่ไม่ถูกไม่ชอบด้วยกฎหมายให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ภายใต้ พ.ร.บ.ที่ดิน ส.ป.ก. หรือแก้ไขระบบสหกรณ์บางอย่างที่ไม่โปร่งใส

...

ถึงตรงนี้ ให้เข้าใจภาพต่อไปอีกว่า...กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูเรื่องภาคการเกษตร พื้นที่การเกษตร 149 ล้านไร่ ดูเรื่องเกษตรกรราวๆ 6 ล้านครัวเรือน แล้วก็ดูเรื่องสินค้าเกษตร

“ด้วยเกษตรกรต้องทำการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว ยังไม่รวมถึงการผลิตในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เรื่องเพาะเลี้ยงต่างๆ แล้วก็ตัวสินค้าที่ผลิตออกมา ประเทศไทยมีสินค้าเกษตร 100 กว่าชนิด แต่ที่สร้างมูลค่าส่งออกสำคัญ มี 30 กว่าชนิด ขณะเดียวกันก็มีสินค้าใหม่ๆที่สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาอีกเรื่อยๆอยู่ทุกขณะ”

สินค้าเกษตรในอนาคต 5 ปี 10 ปี...เป็นอย่างไร แน่นอนว่าก็จะมีชนิดที่เพิ่มมากขึ้นจากวันนี้ คงไม่ใช่จะมีแค่เรื่องข้าว ยาง มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังคงอยู่...แต่จะเพิ่มขึ้นจากตลาดที่เปิดกว้างขึ้น

“อีกทั้งพืชพลังงาน เอทานอล ไบโอดีเซล ก็ยังมีอนาคต ก็ต้องมองถึงสินค้าดาวรุ่งที่มีโอกาส เช่น ผลไม้ไทย สินค้าเกษตรอินทรีย์ ปศุสัตว์ ประมง กุ้ง ปลานิล ฯลฯ แม้กระทั่งการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นอาหารปรุงแต่ง...เพื่อเจาะตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มสินค้าแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น”

เราวางยุทธศาสตร์ภาคการเกษตรถึง 20 ปีข้างหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มองไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต “ไม่ขยายพื้นที่ พื้นที่เท่าเดิมแต่ศักยภาพการผลิตเพิ่มขึ้น ทำตามแผนที่อะกรีแม็ป... (Agri–Map) นวัตกรรมที่หน่วยงานทำงานร่วมกัน เพื่อการใช้ประโยชน์ในแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืน รวมเอาไว้ทุกอย่างตั้งแต่การผลิตต้นน้ำ กลางน้ำ ระบบขนส่งโลจิสติกส์ ต้นทุน ช่วยบริหารจัดการ”

นวัตกรรมองค์ความรู้ผลิตอย่างไร ปรับอย่างไร ลดต้นทุนยังไง ตามตลาดสินค้าเกษตรที่มีความผันผวนเป็นตัวแปรสำคัญ ประกาศให้ประเทศไทยเป็น “ครัวของโลก” ผลิตสินค้าอาหารปลอดภัยมาตรฐานสากล

เราจะพยายามเพิ่มเป้าหมายไปเรื่อยๆ สร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตรที่ผลิตในประเทศไทย เป็นสินค้าที่ทุกคนในโลกนี้บริโภคแล้วปลอดภัย การสร้างแบรนด์ภาคเกษตร สินค้าเกษตรประเทศไทยให้กับผู้บริโภคคนไทยด้วยกันเอง...นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวและผู้บริโภคในต่างประเทศ

“ข้าวเรามีปัญหามาหลายปีแล้ว พอส่งออกก็เจอคู่แข่ง ต้นทุนต่ำก็มีปัญหาเรื่องราคา พืชอื่นๆก็เหมือนกัน ที่ได้รับผลกระทบจากการส่งผ่านราคาจากตลาดโลกกระทบถึงเกษตรกรซึ่งอยู่ต้นทาง หากยังผลิตแบบเดิม ทำการผลิตเหมือนเดิม ปัญหาก็จะเกิดขึ้นเหมือนเดิม อยู่ไม่ได้ สู้ไม่ไหว ไปไม่รอด”

ที่ต้องทำก็คือการ “ลดต้นทุน”...“เพิ่มประสิทธิภาพ” การผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เราอยากเห็นเกษตรกรปรับตัวตาม เมื่อรู้แล้วว่าคู่แข่งเรามี ก็ต้องพยายามเดินหน้า ใช้แผนที่อะกรีแม็ปนำ เสริมด้วย

องค์ความรู้จาก ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร” หรือ “ศพก.” 882 แห่ง

แล้วก็...สร้างเครือข่ายลงพื้นที่ระดับตำบล เข้าใกล้เกษตรกรทุกจุด

พยายามใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ออนไลน์ เป็นตัวช่วยต่างๆผ่านหมอดินอาสา ไปยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ นำไปสู่การผลิตแปลงใหญ่ ลดต้นทุน ผลิตด้วยมาตรฐาน GAP หรือเกษตรอินทรีย์...ผ่านกลไกประชารัฐ รู้ตลาด ตั้งต้นจากแปลงใหญ่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพการผลิต ขยายใหญ่ไปเรื่อยๆ...ขณะที่มีการเพิ่มจำนวนสินค้าเกษตรไปในตัว โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่า ยกระดับ ขยายตลาดได้มากขึ้น

ขณะนี้สินค้าเกษตรแปลงใหญ่มีกว่า 60 ชนิดสินค้า แสดงว่ามีสินค้าอีกมากมายที่มีมูลค่าและสามารถจะจับมาใส่ตลาดสร้างมูลค่าได้ มะเกี๋ยง... หม่อนผลสด ผสมโยเกิร์ต ไอศกรีม หรือแปรรูปทำน้ำผลไม้

...

“พอมีสินค้ามากขึ้นก็จะมีความหลากหลายของผู้บริโภคของตลาดให้เลือก ก็จะสร้างมูลค่ากระจายไปสู่ชุมชนที่เป็นแหล่งผลิตจากเดิมมากขึ้น สินค้าเดิมก็เพิ่มมูลค่า ใส่นวัตกรรม การวิจัยพัฒนาเพิ่มเติมเข้าไป นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์จริงๆ เพื่อทำการตลาดให้ได้”

คำถามสุดท้ายมีว่า...รายได้ครัวเรือนเกษตรกรเท่าไหร่จึงจะอยู่ได้? จริยา เลขาฯ สศก. มองว่า พูดถึงรายได้จะมีส่วนแบ่งรายได้อยู่สองตัว จากการทำเกษตร อยู่ที่ 52-60 เปอร์เซ็นต์ กับรายได้นอกเกษตร เช่นรับจ้าง ทำอาชีพเสริม อยู่ที่ 40-48 เปอร์เซ็นต์ แต่เราจะเน้นเรื่องรายได้เกษตร รายได้เงินสดสุทธิ

นั่นก็คือการลดต้นทุนการผลิต ผลิตของที่มีคุณภาพ...ผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น พอราคาเท่าเดิมหรือดีขึ้นรายได้ก็จะเพิ่มขึ้น ให้เกษตรกรมองเรื่องรายได้ อย่าดูที่ราคาเพราะแกว่งตามตลาด สภาพดินฟ้าอากาศ

“...ให้ดูว่ารายได้ที่เคยได้แล้วอยู่ได้ ถ้าอยู่อย่างนั้นเคยผลิตเท่าไหร่ เพิ่มได้ไหม ผลิตของดีขึ้นได้ไหม ควบคุมต้นทุน เมื่อราคาแกว่งเท่าไหร่ก็ตาม รายได้ก็จะต้องมากกว่าที่เคยได้...แล้วก็อยู่ได้ ขณะเดียวกันก็กลับมาดูรายจ่ายในครัวเรือนด้วย ต้องทำต้นทุนครัวเรือน อะไรที่ไม่จำเป็น ...จำเป็น ปรับลดตามความเหมาะสม”

ไม่เฉพาะเกษตรกร...คนไทยทั้งประเทศไทยก็ต้องน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ไม่มีขีดเส้นหรอกว่า “รายได้” เท่าไหร่จึงจะอยู่ได้ แต่ละคน...แต่ละครอบครัว พื้นฐานปัจจัย ทรัพยากรต่างกัน

“รายได้”...เท่าไหร่ คิดว่าไม่สำคัญเท่ากับว่า “รายได้”...เหลือเท่าไหร่ แล้วก็มีหนี้สินน้อยลง หรือไม่มีหนี้สินเลย แล้วยืนด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ลดรายจ่าย ทำการผลิตหลายๆอย่าง อย่างน้อยเพื่อการบริโภคในครัวเรือน...ที่เหลือขาย แบ่งพื้นที่ให้เหมาะสม สินค้าที่ขายเป็นรายได้หลัก อันไหนเป็นรายได้เสริมทำตลอดปี

...

เกษตรทฤษฎีใหม่...เกษตรผสมผสาน ไร่นาสวนผสม แบ่งพื้นที่เพื่อให้เกิดรายได้หมุนเวียน...ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความพอประมาณ มีเหตุผลโดยใช้ความรู้นำ...ไม่มีทางแน่นอนที่ยิ่งทำจะยิ่งจน สาละวันเตี้ยลง.