คุมเข้มมาก ปฏิกิริยาสะท้อนกลับก็สูงยิ่ง
น่าจะเป็นเรื่องปกติสำหรับการสร้างกฎเหล็ก เพื่อควบคุมพฤติกรรมนักการเมืองให้อยู่ในร่องในรอย เพื่อแก้ไขปัญหาการเมืองที่ผ่านมา
สิ่งที่ไม่ควรจะลืมเลือนต้องมองย้อนกลับไปในสิ่งที่เป็นปัญหา จนทำให้ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์
อารมณ์ของสังคมในระหว่างนั้น ชี้เป้าไปที่ “นักการเมือง” คือปัญหาของประเทศ มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปกันครั้งใหญ่
ถึงขั้นที่ว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งด้วยซ้ำไป
หลังจาก กรธ.ได้จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อย 2 ฉบับ ว่าด้วยการคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมือง ซึ่งจะเกี่ยวพันกับการเลือกตั้งเป็นการเฉพาะและได้ส่งให้ สนช.นำไปพิจารณา
แก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะต้องอยู่ในหลักการเดิมที่ กรธ.วางแนวคิดเอาไว้ มิฉะนั้นถ้าขัดหลักการก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ
2 ฉบับนี้ หาก สนช.พิจารณาจัดทำเป็น พ.ร.บ.แล้ว ก็จะไปสู่ขั้นตอนเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายที่สอดรับกับรัฐธรรมนูญ
แน่นอนว่า กรธ.ได้รับฟังความเห็นค่อนข้างจะกว้างขวาง จนสามารถนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อจัดทำเป็นกฎหมาย
สาระสำคัญก็ต้องพุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาการเมือง
เมื่อหลักการเป็นไปอย่างนี้ ย่อมทำให้นักการเมืองเกิดความรู้สึกไม่ต่างกันคือ เป็นภาพลบที่มุ่งเน้นในการควบคุมลงโทษ พรรคการเมืองและนักการเมืองเป็นหลัก
จึงเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธความจริงที่เกิดขึ้น
นักการเมืองก็ต้องไม่เห็นด้วยและแสดงออกด้วยความรู้สึกว่ามีอคติต่อพวกเขา การส่งเสียงบอกสังคมว่ากฎหมายลูกที่ออกมามีเจตนาที่จะควบคุมบังคับพวกเขา หรือแม้กระทั่งระบุว่าเป็นการทำลายพรรคการเมืองด้วยซ้ำไป
สนช.ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการออกกฎหมายที่รับมาอีกทอดจาก กรธ. ก็ต้องนำไปพิจารณาให้รอบคอบและรอบด้าน
...
ด้านหนึ่งอาจจะมีข้อมูลพื้นฐานที่เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนพรรคการเมือง นักการเมืองที่มีความต้องการแตกต่างจาก กรธ.แน่
เพราะถูกคาดคิดว่าพวกเขาคือ “จำเลยสังคม”...
จึงเป็นหน้าที่ของ สนช.ที่จะต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วยใจเปิดกว้าง แยกแยะให้ดี เพราะเมื่อฟังนักการเมืองพูดก็จะรู้สึกเห็นใจและเข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
แต่ที่ต้องไม่ลืมก็คือ ภารกิจสำคัญตั้งแต่เริ่มต้นเข้ามาเป็น สนช. แม้จะมาจากการแต่งตั้งจาก คสช.ก็จริง
ไม่ได้หมายความว่า สนช.จะต้องคิดตรง คิดเหมือน หรือรับใบสั่งจาก คสช.
อยากจะบอกเอาไว้อย่างหนึ่งว่าการเข้าไปรับหน้าที่ในฐานะ สนช.เพื่อทำหน้าที่ออกกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาได้ออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติหลายฉบับ
กฎหมายลูกก็มีความสำคัญทางการเมือง
ฉะนั้นอย่าลืมว่าหน้าที่สำคัญคือการปฏิรูปการเมือง จึงต้องมองเรื่องนี้เพื่อแก้ไขปัญหา จึงต้องมี “หลักการ” ที่ชัดเจน
การพิจารณาสาระสำคัญที่ กรธ.จัดทำกฎหมายลูกนั้น จึงต้องทำความเข้าใจให้ดีด้วย มุ่งหวังไปสู่การแก้ไข ไม่ใช่เลี้ยงไข้กันต่อไป แล้วแก้ไขปัญหาไม่ได้
เพราะเพียงแค่มีอารมณ์ร่วมไปกับนักการเมืองที่โอดครวญเท่านั้น.
“สายล่อฟ้า”