หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวข่าวตรงกัน กรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล นำเอกสารลับของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาแฉ ระบุว่าแม้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน และคณะอนุกรรมการ จะมีมติให้ยกคำร้องยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีหัวหน้าพรรคให้พรรคกู้เงิน 191 ล้านบาท แต่ กกต.ยังยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค

เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงว่าจากเอกสารที่ได้รับ ระบุว่าเมื่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนมีมติให้ยกคำร้องแล้ว แทนที่เรื่องจะจบกลับสั่งให้คณะกรรมการไต่สวนต่ออีก แต่คณะกรรมการยังยืนยันยกคำร้อง จากนั้น กกต.ส่งให้คณะอนุกรรมการ และมีมติด้วยคะแนนเสียง 3 ต่อ 1 ให้ยกคำร้อง แต่เรื่องก็ไม่จบ

ซ้ำยังมีการเปลี่ยนข้อกล่าวหาใหม่ จากมาตรา 66 ของกฎหมายพรรคการเมือง ฐานบริจาคเงินให้พรรคเกิน 10 ล้านบาท แต่อยู่ๆก็โผล่มามาตรา 72 กล่าวหาว่ารับบริจาคเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น เงินที่ได้จากการค้ายาบ้า หรือค้าของเถื่อน เพราะถ้าใช้ ม.66 ยุบพรรคไม่ได้ แต่ ม.72 ยุบพรรคได้

ผู้สื่อข่าวถามเลขาธิการ กกต. เมื่อคณะกรรมการถึง 2 คณะ มีมติให้ยกคำร้อง ทำไม กกต.จึงยังส่งคำร้องต่อศาล รัฐธรรมนูญ ได้รับคำตอบว่าการพิจารณามี 4 ขั้นตอน เลขาธิการ กกต.ก็เป็นขั้นตอนหนึ่ง ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เห็นว่า การที่พรรคอนาคตใหม่กู้เงินจากหัวหน้าพรรค เป็นเหตุให้ยุบพรรคได้

กรณีนี้กลายเป็นเรื่องราวขึ้นมา เมื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค.ตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่ถามถึงการเงินของพรรค นายธนาธรตอบว่าให้พรรคกู้เงินกว่า 191 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมพรรคในช่วงแรก จากนั้นมีผู้ร้องต่อ กกต.ขอให้ยุบพรรค ฐานทำผิดกฎหมายพรรคการเมืองหลายมาตรา

เริ่มตั้งแต่มาตรา 62 ว่าด้วยรายได้ของพรรค มีบทกำหนดโทษแค่ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท และมาตรา 66 ความผิดฐานบริจาคเงินให้พรรคเกิน 10 ล้านบาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ไม่มีโทษยุบพรรคทั้งสองมาตรา แต่มาตรา 72 ความผิดฐานรับบริจาคเงินที่ผิดกฎหมาย มีโทษยุบพรรค

...

องค์กรอิสระนับแต่รัฐบาล คสช.จนถึงปัจจุบัน ถูกสังคมเพ่งเล็งและสงสัยในความเป็นอิสระอย่างต่อเนื่อง ผลการสอบถามความเห็นของซูเปอร์โพล พบว่ากลุ่มพลังเงียบ 36.6% แปรพักตร์ไปอยู่กับกลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล เพราะเบื่อรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจล้มเหลว เห็นแก่พวกพ้อง กลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม แย่งอำนาจ สืบทอดอำนาจ.