วันพรุ่งนี้ รัฐสภา จะมีการโหวตเลือก นายกรัฐมนตรี ผมเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เสียงเกินครึ่ง 376 เสียง จาก 250 ส.ว. ส.ส.พลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมใจ แต่รัฐบาลใหม่จะอยู่ยาวหรือไม่ยังเป็นคำถาม ผมไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ คิดอะไรอยู่ในใจ วันก่อนจึงให้ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกสำนักนายกฯ แถลงว่า ตนแนะนำให้คนไทยอ่านหนังสือ Animal Farm เพราะเห็นว่าเป็นหนังสือที่ให้ข้อคิดการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี
เลยทำให้คนสงสัยกันใหญ่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จริงหรือ ใครแนะนำให้อ่าน ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ อยากให้คนไทยอ่านหนังสือเล่มนี้ ต้องการบอกอะไร เพราะหนังสือ Animal Farm แม้จะเป็นนิทานสัตว์ ก็เป็นนิทานสัตว์การเมือง ที่ชี้ให้เห็นถึงความเลวร้ายของการปกครองแบบเผด็จการ ของสัตว์ในฟาร์ม
จะว่าไปแล้ว หนังสือ Animal Farm อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ หัวหน้าคณะปฏิวัติ และ หัวหน้า คสช. ด้วยซ้ำ ที่ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศมานานถึง 5 ปี จู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ให้รองโฆษกแถลงให้คนไทยอ่านหนังสือเล่มนี้ ใครที่ยังไม่ได้อ่าน ต้องไปอ่าน จะได้รู้ว่า การปกครองแบบเผด็จการไม่ดีอย่างไร แม้ในสังคมสัตว์ก็ตาม
ผมยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แต่อ่านบทย่อที่มีหลายท่านเขียนแนะนำตามสื่อต่างๆ เมื่อได้อ่านก็ยิ่งเห็นความไม่ดีของการปกครองแบบเผด็จการ ก็ต้องขอบคุณ นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แนะนำให้คนไทยอ่านหนังสือเล่มนี้
คุณบัญชา สุวรรณานนท์ ผู้แปลหนังสือเล่มนี้ โดยตั้งชื่อหนังสือว่า “แอนิมอล ฟาร์ม สงครามกบฏของสัตว์” ยืนยันว่า หนังสือเล่มนี้เป็น หนังสือการเมือง แม้ว่า จอร์จ ออร์เวลล์ ผู้เขียนจะบอกว่าเป็นนิทาน แต่ก็เป็น นิทานการเมือง (ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องจริงในสมัย พระเจ้าซาร์นิโคลัส กษัตริย์องค์สุดท้ายของรัสเซีย และการปฏิวัติของ โจเซฟ สตาลิน ผู้ใช้นโยบายรวบอำนาจและยึดทรัพยากรของประชาชนทั้งหมดมาเป็นของรัฐ)
...
คุณบัญชา เล่าว่า หมูที่ชื่อ “นโปเลียน” ฉลาดกว่าสัตว์ตัวอื่นในฟาร์ม นำเหล่าสัตว์ลุกขึ้นปฏิวัติ ยึดอำนาจขับไล่เจ้าของฟาร์มขี้เมาออกไป ตอนแรกก็บอกว่าทำเพื่อทุกคน พอมีอำนาจอยู่ในมือก็ค่อยๆสร้างอำนาจขึ้นมา เอาหมามาฝึกเพื่อไปจัดการกับคนและคู่แข่ง พอคุมอำนาจได้หมดแล้ว ก็ค่อยๆเปลี่ยนไปทีละนิด ด้วยการบิดเบือนกฎของตัวเอง และ ประโยคเด็ด ที่เป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้ก็คือ “สัตว์ทุกตัวเสมอภาคกัน แต่มีสัตว์บางตัวเสมอภาคมากกว่าสัตว์อื่น” สุดท้ายฟาร์มก็กลายเป็นสังคมอยุติธรรม เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ ไม่มีระบบตรวจสอบ ไม่มีใครคัดค้านอำนาจหมูได้ คนที่คัดค้านถูกเล่นงานหมด
คุณวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนชื่อดังก็ได้โพสต์เรื่องนี้ในเฟซบุ๊กว่า ตอนที่ หมูสามตัว (หมูแก่ ที่เป็นผู้นำคนแรก หมูชื่อสโนว์บอล และ นโปเลียน) ก่อการปฏิวัติสำเร็จก็ได้สร้างระบบใหม่ที่เรียกว่า Animalism ให้ผู้ที่ฉลาดนำกลุ่ม มีการเปลี่ยนป้ายชื่อฟาร์มจากมานอร์ ฟาร์ม เป็น แอนิมอล ฟาร์ม มีการตั้งกฎใหม่ขึ้นมาเรียก บัญญัติ 7 ประการ คือ 1.สองขาคือศัตรู 2.สี่ขาคือมิตร 3.สัตว์ห้ามสวมเสื้อ 4.สัตว์ห้ามนอนบนเตียง 5.สัตว์ห้ามดื่มของเมา 6.สัตว์ห้ามฆ่าสัตว์อื่น 7.สัตว์ทุกตัวเสมอภาคกัน
เมื่อ หมูนโปเลียน รวบอำนาจไว้ได้เบ็ดเสร็จ ก็เปลี่ยนกฎไปเรื่อยจนสุดท้าย บัญญัติ 7 ประการ ก็เหลือประการเดียวคือ “สัตว์ทุกตัวเสมอภาคกัน แต่บางตัวเสมอภาคกว่าตัวอื่น” และ คุณวินทร์ ก็สรุปว่า นิยายเรื่องนี้เป็นนิยายเสียดสี “อำนาจ” มันบอกว่า อำนาจนั้นมักฉ้อฉล ดังประโยคที่ชาวโลกคุ้นกันดี “Power corrupts ; absolute power corrupts absolutely” แปลว่า อำนาจมักจะฉ้อฉล และอำนาจสูงสุดมักฉ้อฉลสูงสุด
ตรงนี้ครับ เป็นข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่ง เผด็จการเป็นสิ่งไม่ดี การฉ้อฉลก็เป็นสิ่งไม่ดี ขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แนะนำให้คนไทยอ่านหนังสือเล่มนี้ หวังว่าท่านจะใช้เป็นบทเรียนในการ ตั้งรัฐมนตรี โดยเลือก “คนดี” เป็นรัฐมนตรี อย่าให้ “คนไม่ดี” มีอำนาจปกครองบ้านเมืองเหมือนใน Animal Farm.
“ลม เปลี่ยนทิศ”